โครงการวิจัย

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและได้รับการถ่ายทอดอย่างทั่วถึงกันในระดับนาๆประเทศ ทำให้มีการกำหนดแผนพัฒนาและกลยุทธ์การใช้งาน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด  ดังปรากฏในแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ.2547-2556 (คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. 2547 : 7) ได้กำหนดปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน 4 ประการ คือ ความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ความเข้มแข็ง ทางด้านทรัพยากรมนุษย์บรรยากาศการพัฒนาที่เอื้ออำนวยและความสามารถในสาขาเทคโนโลยี เพื่ออนาคตซึ่งมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เน้นการผลิตและบริการที่ใช้ความรู้เข้มข้นและการสร้างนวัตกรรมการเพิ่มความสามารถในการจัดการตนเองเพื่อ  ยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่นและยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้อยู่ในอันดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ IMD โดยมีกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาแบ่งเป็น 3 ภาคส่วนได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจชุมชน และภาคสังคมภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.  2554 : ข)ได้มีการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้มีการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นในมิติการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่สังคมไทยต้องเผชิญ และเสริมรากฐานของประเทศด้านต่างๆ ให้เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้นี้จะต้องอาศัยกระบวนการทำงานร่วมกัน  การสืบสวนสอบสวนหาปัญหาและข้อโต้แย้งร่วมกันเป็นกลุ่มวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหา  (ทางเศรษฐกิจสังคม  ทางการเมืองการปกครอง  ทางวัฒนธรรม  ทางส่วนบุคคล)  รวมกันเป็นกลุ่ม  และเหนือสิ่งอื่นใดต้องปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นกลุ่มในการแก้ปัญหานั้นๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมีการวางพื้นฐานของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานพัฒนาทั้งหลายกับชุมชนจะช่วยเอื้ออำนวยต่อกระบวนการปลดปล่อยประชาชนให้แก้ปัญหาของตนเองได้  การมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ  ทำอย่างไรจึงจะชักชวนส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลุ่มก้อน  และรักษาการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้ให้เหนี่ยวแน่นยั่งยืน  โดยเฉพาะประชาชนในสังคมที่ต่างคนต่างอยู่  มิได้มีการเข้ามามีส่วนร่วมกันมาก่อนการใช้ชุมชนเป็นฐาน เน้นคนเป็นศูนย์กลางหรือจุดหมายหลักของการพัฒนาโดยแนวทางการพัฒนาคน คือ การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมประเมินผล จึงจะสามารถทำให้ประชาชนได้เรียนรู้กระบวนการมีส่วนร่วม และการช่วยเหลือพึ่งพาตนเองและเพื่อนบ้านโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม (สำนักมาตรฐานการศึกษา สำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย. 2545 : 35-36)

ประเวศ วะสี (อ้างถึงใน กรุงเทพธุรกิจ : ออนไลน์. 2553) กล่าวถึงสภาพสังคมเมืองไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก โดยกล่าวไว้ว่า…สังคมสมัยเก่าพูดกันด้วยเหตุและผล ตรงไปตรงมา เห็นได้ชัดเจน แต่สังคมสมัยปัจจุบันมีความซับซ้อน ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ จนทำให้เกิดภาวะโกลาหล จะโทษใครก็เชื่อมโยงกันไปหมด สังคมจะมั่นคงก็ต้องมีการพัฒนาฐานรากให้แข็งแรง มั่นคง ไม่มีทฤษฎีไหนสำเร็จจากยอด ซึ่งที่ผ่านมาเราพัฒนาจากยอด มันก็จะค่อยๆพังลงมา นี่คือจุดล้มเหลว และทำให้เกิดช่องว่างอย่างมาก จนนำไปสู่ปัญหาทางสังคม ทางการเมือง จึงไม่มีทางออกอย่างทุกวันนี้ เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมการพัฒนาสังคมไทย ที่ต้องสร้างความภูมิใจกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาต้องเริ่มจากล่างขึ้นบน นั่นคือพัฒนาจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจะทำให้ยั่งยืนมากกว่าการพัฒนาจากยอดไปสู่พื้นล่างการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงปัญหาของประเทศมีความเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาเพื่อหาทางเยียวยาแก้ไขให้เกิดความปรองดองและไม่ก่อเกิดเป็นปัญหาอีก และต้องทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ขับเคลื่อนไปตามกระแสเทคโนโลยี

สิปปนนท์  เกตุทัต (2534 : 119) อธิบายไว้ในหนังสือ “ทางสายกลางของสังคมไทยในอนาคต: เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม” “…วัฒนธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องคี่ควรเอาใจใส่ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับระบบคุณธรรมจริยธรรม แต่การพัฒนาจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ตามความหมายของข้าพเจ้า การพัฒนาจะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี แม้ว่าในการก้าวเข้าสู่ความทันสมัยนั้น จำเป็นต้องยอมประนีประนอมปรับเปลี่ยนความคิดค่านิยมบางอย่าง ก็ขอให้เราหวังว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับระบบคุณค่า และจริยธรรมที่เป็นบรรทัดฐานของวัฒนธรรมนั้น…”      ลักษณะความทันสมัย  (modernization) และการก้าวรุกทางวัฒนธรรมที่มีสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือได้ทำให้การจัดบรรยากาศการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไทยดำเนินไปอย่างลำบาก ไม่สามารถต่อสู้กับการไหลบ่าของวัฒนธรรมสากลและสิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยีได้ วัฒนธรรมศึกษาจึงไม่เน้นความแปลกแยกระหว่างวัฒนธรรมและเทคโนโลยี ไม่มุ่งแยกตัววัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล และเหนือสิ่งอื่นใด วัฒนธรรมศึกษาจะต้องไปไม่แยกตัวออกจากวิถีชีวิตและชุมชน แนวคิดดังกล่าวนี้ พูดง่ายทำยาก เพราะนักการศึกษาต้องรู้จักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นบรรยากาศและวิธีการผสมผสานเป็นธรรมชาติ และปลุกเร้าการมีส่วนร่วม แนวคิดนี้ดูๆ ก็เป็นอุดมคติ แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างแท้จริงก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารการศึกษา ครู และชุมชนที่จะเอาใจใส่และดำเนินงานอย่างเข้มแข็งวัฒนธรรมศึกษา เป็นเพียงความคิดฝันหรือความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ประเวซ  วะศี (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน : ออนไลน์. 2555)  ได้กล่าวถึง ทางรอดประเทศไทย  ต้องประกอบไปด้วย INN หรือ โครงสร้างใหม่ที่คนไทยจะทำงานร่วมกันโดยให้ I = Individual หรือปัจเจกบุคคลที่มีจิตสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของตนแล้วลงมือทำอะไรดีๆ N = Nodes หรือการรวมกลุ่มกัน สี่ช้าห้าคนหรือหกเจ็ดคน มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน รวมตัวกันทำเรื่องดีๆ ที่กลุ่มสนใจ มีกลุ่มที่หลากหลายเต็มประเทศ และ N = Networks หรือเครือข่ายเชื่อมโยงกันระหว่างบุคคลและเครือข่าย  โครงสร้าง INN นี้ คนทุกคนจะมีความหมาย มีความเสมอภาคไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร มีภราดรภาพ จึงให้ความสุขอย่างยิ่ง และมีพลังของความสำเร็จสูง ทั้งนี้โดยไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนในโครงสร้างทางดิ่ง เพราะสามารถเชื่อมโยงกันได้และทำให้โครงสร้างที่เป็นการทำงานได้ดีขึ้นINN เป็นโครงสร้างที่คนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกสถาบัน จะร่วมปฏิรูปประเทศไทย ทั้งที่แยกกันทำ และเชื่อมโยงกันทำให้เต็มประเทศ ก็จะสามารถทำเรื่องยากๆ อาทิเช่น การปฏิรูปประเทศไทย

ในปัจจุบันมีระบบการศึกษาแบบเปิด (Open Education Resource)ที่ เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าไปศึกษาได้ฟรีได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบการศึกษาแบบเปิด (MOOCs : Massive Open Online Courses) สำหรับประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการจากการมีสื่อแบบเปิดก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องนำสื่อแบบเปิดเหล่านั้นมาสร้างเป็นบทเรียน (ทวีศักดิ์ กออนันตกูล. แถลงข่าวโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. วันที่ 22 มกราคม 2558.)

จึงนำมาสู่คำถามวิจัยว่า จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ภายใต้แนวคิดนี้มีหลักการที่ยอมรับร่วมกันแล้วว่าการมีส่วนร่วมมีความสำคัญในงานพัฒนาชุมชนจึงนำมาเป็นหลักการหนึ่งในกระบวนการวิจัย โดยศึกษาว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะทำให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในสื่อดิจิตอลแบบเปิดด้วยความร่วมมือของชุมชน ควรเป็นอย่างไร

 

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

1 เพื่อศึกษาแหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตอิสานใต้

2 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของชุมชนในการพัฒนาองค์ความรู้บนอินเตอร์เน็ต

3 อบรมแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนอินเตอร์เน็ต

4 เพื่อประเมินผลและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปทั่วประเทศ

ขอบเขตของโครงการวิจัย

1 พื้นที่ที่ทำวิจัยได้แก่ จังหวัด บุรีรัมย์ สุรินทร์

2 ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ศึกษาในครั้งนี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมและมีอยู่หลากหลายในวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาที่ได้มีการสร้างสรรค์และปรับเปลี่ยน ผ่านการตรวจสอบและอยู่ในวิถีของชาวบ้าน และเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน โดยศึกษาเฉพาะนายผาย สร้อยสระกลาง  ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2553และ

3 สื่อดิจิตอลแบบเปิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์จากชุมชนและเผยแพร่อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต

4 ชุมชนได้แก่ ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์