การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับการมีส่วนร่วม

การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับการมีส่วนร่วม

               1)  ปรัชญาของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  เป็นกระบวนการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อปรัชญาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ (สำนักมาตรฐานการศึกษา สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย.2545)  บางประการอันได้แก่

1.1)   ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนร่วมของประเทศ  การทรุดโทรมหรือเสียหายของชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่ง  หมายถึง  ความเสียหายส่วนหนึ่งของประเทศ ดังนั้น  การที่นักวิจัยจากภายนอกจะกระทำการใดๆ  กับชุมชน  เสมือนที่กระทำกับ  “หนูตะเภา” หรือ “วัตถุสำหรับการวิจัย”  (Research  Object)  ตามอำเภอใจ  โดยที่สมาชิกในชุมชนไม่มีส่วนร่วมด้วยย่อมไม่เป็นการสมควร  เพราะนักวิจัยจะไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลที่ตนกระทำกับชุมชน

1.2)   ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนที่อาจไม่เหมือนกับแห่งอื่นๆ ที่นักวิจัยเคยรู้จักและอาจไม่เหมือนกับที่กล่าวไว้ในตำราเชิงทฤษฏีที่นักวิจัยได้เล่าเรียนมา  ดังนั้นนักวิจัยจากภายนอกจะถือว่าความรู้และประสบการณ์ของตนมีมาพอสำหรับจะกระทำกับชุมชนย่อมไม่สมควร

1.3)   สมาชิกแต่ละคนของชุมชนท้องถิ่นนอกจากจะได้รับการปกป้องตามหลัก “สิทธิมนุษยชน” แล้วยังเป็นผู้มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถมีคุณงามความดีจึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างผู้มีเกียรติ

1.4)   มนุษย์ทุกคนมีความสามารถโดยธรรมชาติในระดับหนึ่งที่จะร่วมคิดวางแผน  เพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ดีของตนเองและของกลุ่มของตน

1.5)   มนุษย์เป็นสัตว์สังคมมนุษย์ไม่อาจเจริญรุดหน้าได้มากนักโดยลำพังตนเองที่แยกจากหมู่คณะมนุษย์จำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างความเจริญของชุมชนท้องถิ่นของตน  ควบคู่กับความเจริญของเอกัตตบุคคล

1.6)   สิ่งที่เรียกว่า “ความน่าเชื่อถือ” สำหรับการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนั้น จะใช้เกณฑ์จากภายนอกหรือจากตัวแบบทางความคิดเชิงทฤษฏีในตำราวิจัยเพียงด้านเดียวหาพอไม่ จำเป็นต้นใช้เกณฑ์ของความเห็นชอบจากสมาชิกในท้องถิ่นด้วยเป็นสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของเขาและเขาเองก็มีความรู้มีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง สำหรับจะใช้ตัดสินว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

1.7)   “ความยั่งยืน” ของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ก็คือ ความคงอยู่อย่างถาวรของทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิตตามแนวคิดเชิงระบบ ดังนั้น การมี PAR เป็นกระบวนการต่อเนื่องและถาวรในชุมชนท้องถิ่นใด จึงเท่ากับมีปัจจัยนำเข้า และกระบวนการที่ยั่งยืนซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลผลิต คือ ความเจริญที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นนั้น

               2)  กระบวนการของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการของการทำงานร่วมกัน  ต้องอาศัยการสืบสวนสอบสวนหาปัญหาและข้อโต้แย้งร่วมกันเป็นกลุ่มวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหา  (ทางเศรษฐกิจสังคม  ทางการเมืองการปกครอง  ทางวัฒนธรรม  ทางส่วนบุคคล)  รวมกันเป็นกลุ่ม  และเหนือสิ่งอื่นใดต้องปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นกลุ่มในการแก้ปัญหานั้นๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวยิ่งไปกว่านั้น PAR  ยังเป็นกระบวนการวิจัยที่ค่อนข้างจะลำเอียงไปในด้านกระบวนการประชาธิปไตย  PAR  ยืนหยัดขึ้นมาได้ด้วยประชาชนผู้มีหัวใจเปี่ยมด้วยการวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้ในการแก้ไขปัญหาของตน  มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือกลุ่ม  คนยาก คนจน  และคนที่ด้อยโอกาส  ด้วยการวางพื้นฐานของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานพัฒนาทั้งหลายกับชุมชนเช่นนี้  มันจะช่วยเอื้ออำนวยต่อกระบวนการปลดปล่อย  ประชาชนให้แก้ปัญหาของตนเองได้  เมื่อเราใช้การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่เรียกว่า  PAR  อย่างถูกต้อง  เราก็จะบังเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างน้อยสามประการ  ได้แก่  ประชาชนได้รับการเรียนรู้เพิ่มขึ้น  ประชาชนมีการกระทำมากขึ้น  และประชาชนมีการเผยแพร่พลังความรู้กันมากขึ้น  กระบวนการของ  PAR  นั้น  มิใช่เพียงการสืบค้นปัญหาและการแก้ปัญหาเท่านั้น  แต่เป็นกระบวนการกระตุ้นให้ประชาชนมีการกระทำต่อปัญหาเหล่านั้น  การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อปัญหาทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ผลสุดท้าย  ประชาชนมิได้เพียงเรียนรู้การแก้ปัญหาเท่านั้น  แต่ได้เพิ่มพูนความรู้ให้พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาที่ยากไปกว่านี้  กระบวนการและผลลัพธ์ของการวิจัยแบบมีส่วนร่วม นั้นเป็นของประชาชน  ประชาชนมีสิทธิ์และเสียงที่สำคัญในการตัดสินใจอันเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วม  แต่เพื่อให้การตัดสินใจนั้นได้รู้ทั่วกัน  จึงจำเป็นที่ต้องใช้ประชาชนได้รู้ถึงปัญหาทุกๆ ด้าน  ในการวิจัยแบบปฏิบัติการแบบนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ  มีส่วนเกี่ยวข้องในผลพวงของการตัดสินใจ  ที่กำลังมาไม่ว่าในทางบวกหรือทางลบ  ผู้ประสานงานการวิจัยจะต้องยอมรับ  ในกฎข้อนี้และเฉียบแหลมที่จะแนะแนวทางการแก้ไขหรือควบคุมกระบวนการด้วยตนเองหรือด้วยหน่วยงานภายนอก  ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประสานงานการวิจัยจะต้องยอมรับนับถือทัศนะในทางวัฒนธรรมการเมืองและการปกครองของชุมชน  ฝึกปฏิบัติควบคุมตนเองให้อยู่ในกาลเทศะ  ทำตัวแบบธรรมดาๆ  ในเวลาเดียวกันก็สร้างความสัมพันธ์แบบเปิดเผยเป็นกันเองกับประชาชนทุกคน  ถ้าประชาชนตัดสินใจโดยใช้วิธีการเก่าๆ ดั้งเดิม  เราก็สามารถใช้การวิจัยปฏิบัติการเข้าช่วยให้ประชาชนได้เห็นปัญหาข้อโต้แย้งให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะการไม่ปฏิบัติตามวิธีการแบบเดิม  ตัวอย่างเช่น  ในชนบทจะมีหลักปฏิบัติเป็นเสมือนของเขตของการเคารพนับถือระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก  ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ  ถ้าขอบเขตเหล่านี้หมดไป  การตัดสินใจเชิงเหตุผลอาจยากลำบากขึ้น  ถ้าการรักษาศักดิ์ศรีหรือรักษาหน้าถูกคุกคาม ในการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  นั้น การมีส่วนร่วมหมายถึง การที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทุกด้านของกระบวนการพัฒนา  ซึ่งรวมทั้ง การตัดสินใจ  การวางแผน  การดำเนินงานโครงการ  ผู้ประสานงานหรือผู้อำนวยการวิจัย  จึงต้องหลีกเลี่ยงโดยจะไม่เข้าไปรับผิดชอบมากเกินไป  แต่กลับทำหน้าที่เผยแพร่หรือมอบหมายงานให้ประชาชนทำแทน  ความสำเร็จของผู้ประสานงานหรือผู้อำนวยการวิจัยนั้นสามารถวัดได้จากการดูว่า  ชุมชนนั้นได้ทำหน้าที่ของแต่ละคนไปได้มากน้อย  เราต้องทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมมีการเฉียบไวต่อเรื่องต่างๆ เช่น  สิ่งแวดล้อม  สิทธิมนุษยชน  สันติภาพ  ความเสมอภาคทางเพศ  ศิลปะ  ตลอดจน การอนุรักษ์การบริการด้านวัฒนธรรมและอื่นๆ  สิ่งที่ท้าทาย การมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ  ทำอย่างไรจึงจะชักชวนส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลุ่มก้อน  และรักษาการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้ให้เหนี่ยวแน่นยั่งยืน  โดยเฉพาะประชาชนในสังคมที่ต่างคนต่างอยู่  มิได้มีการเข้ามามีส่วนร่วมกันมาก่อน(สำนักมาตรฐานการศึกษา สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย. 2545)

               3)  วิธีการของการดำเนินการมีส่วนร่วม 

วิธีดำเนินการของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนั้นมีกิจกรรมที่แตกต่างกันอยู่สองชุด  ซึ่งจะต้องจำแนกให้ท่านได้เข้าใจให้ชัดเจนทั้งสองชุดคือ

3.1)    กิจกรรมการวิจัยปฏิบัติการหรือ PAR  ของผู้ประสานงานหรือผู้อำนวยการวิจัย  กิจกรรมของผู้ประสานงานการวิจัยนั้นก็คือ  กิจกรรมการแสวงหาความรู้ของนักวิจัยปฏิบัติการตามโครงการ PAR  แต่ละคนในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง  จุดมุ่งหมายที่สำคัญ  ของนักวิจัยคือ  การสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักการวิจัย  เชิงวิทยาศาสตร์และสามารถที่จะเผยแพร่แก่สังคมได้รูปแบบของการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิผลนั้น  จะต้องเป็นรูปแบบที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ไม่สิ้นเปลืองเงินทอง  กำลังงานและเวลาไม่มากนัก  แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้รับผลตอบแทนสูง

3.2)   กิจกรรมการวิจัยปฏิบัติการหรือ  PAR ของชุมชน กิจกรรมวิจัยปฏิบัติการของชุมชนคือ   กิจกรรมที่เกิดจากความพยายามในการแก้ปัญหาชุมชนของนักวิจัยปฏิบัติการร่วมกับชุมชน  นักวิจัยปฏิบัติการที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหรือผู้อำนวยการวิจัยจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรก  และค่อยๆ ลดการช่วยเหลือลงและหวังว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วประชาชนจะสามารถแก้ปัญหาของตนไปตามลำพังได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมิต้องได้รับการช่วยเหลือจากภายนอก (สำนักมาตรฐานการศึกษา สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัยม. 2545)

อนุรักษ์  ปัญญานุวัฒน์ (2548 : 118-120) ได้ออกแบบงานวิจัยที่เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม  ให้ทีมวิจัยที่มุ่งเข้าไปสนับสนุนหน่วยงานของภาครัฐที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนโดยมีเทคนิค Appreciation Influence Control (AIC) ประกอบด้วย  และมีข้อแนะนำให้มีการนำไปใช้ภายใต้หลักการต่างๆ ดังนี้

(1)  กำหนดกรอบแนวคิดการสร้างกระบวนการตัดสินใจของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (community-based natural resource management) เพื่อให้เกิดการร่วมมือในการจัดการทรัพยากรในเชิงจิตวิทยาสังคม  การเมือง  เศรษฐกิจ  ประชากร  เทคโนโลยี  นิเวศวิทยา  และการบูรณาการแนวคิดแบบองค์รวม โดยดูบริบทภายนอกชุมชน  และบริบทภายในชุมชนเป็น กรอบสำคัญ

(2)  กำหนดวิธีการและเป้าหมายการเข้าถึงบุคคลหลักในชุมชน  หรือที่เกี่ยวกับชุมชน  โดยผ่านบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่คาดว่าจะสามารถเป็นตัวกลางนำการเปลี่ยนแปลงได้  (Change agents) โดยอาจจะเป็นครู อาสาสมัครเดินสอน การศึกษานอกโรงเรียน พัฒนากร ผู้แทนชนเผ่า ผู้แทนชุมชนทั้งในและนอกชุมชน

(3)  ทำการศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพคาดหวังของชุมชน  ด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  นิเวศวิทยา  แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน  เพื่อหาช่องว่างระหว่างสองสภาพนั้น

(4)  ทำการวิเคราะห์ความต้องการด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  นิเวศวิทยา

(5)  กระตุ้นและร่วมกับชุมชนทำการสร้างภาพที่วาดหวัง (scenario) ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม โดยยึดผลประโยชน์ของแผ่นดินและชุมชน การใช้และแบ่งปันผลประโยชน์ การจัดระบบการจัดการ การติดตามและประเมินผล

(6)  ร่วมกันกำหนดแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมแบบรูปธรรม  แบ่งเป็น 4 ระยะคือ

ระยะที่ 1การสำรวจข้อมูลเบื้องต้น (6 เดือน)

ระยะที่ 2การสร้างความคุ้นเคย  และความไว้เนื้อเชื่อใจ  และสร้างภาพที่วาดหวังของชุมชนในเชิงพัฒนาที่สร้างสรรค์  โดยมีขั้นตอนย่อย คือ ขั้นที่หนึ่งการสร้างความคุ้นเคย  ขั้นที่สองการสร้างภาพที่วาดหวังของชุมชน  และขั้นที่สาม  การตัดสินใจของชุมชน

ระยะที่ 3  การเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการทรัพยากร

ระยะที่ 4  ศึกษาผลกระทบและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายหลังการขุดค้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ  สามารถอธิบายได้ดังแผนภาพที่  2

แผนภาพที่ 2  งานออกแบบเค้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

ปรับปรุงมาจาก อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์. การศึกษาชุมชนเชิงพหุลักษณ์ : บทเรียนจากการวิจัยภาคสนาม. (2548 : 120)

 

ในการดำเนินการตามขั้นตอนของการมีส่วนร่วมนั้น  อมรวิชช์  นาครทรรพและดวงแก้ว  จันทร์สระแก้ว (2541 : 8-11) ได้แบ่งขั้นตอนไว้ ดังนี้

(1)  ขั้นเตรียมการประสานพื้นที่  ในขั้นเตรียมการประสานพื้นที่นี้มีงานต่าง ๆ มากมายที่นักวิจัยต้องทำ อาทิ

(1.1)  การคัดเลือกชุมชนซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้วิจัยในการสำรวจและศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของชุมชนทุกด้าน  นับตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพ  แหล่งทรัพยากรของชุมชน  ลักษณะทางด้านชีวภาพ  ข้อมูลทางด้านประชากร  สังคม  เศรษฐกิจ  การสื่อสาร  ในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลดังกล่าว  ควรรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  ซึ่งผู้วิจัยอาจอาศัยจากหน่วยราชการที่มีอยู่  องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกับการสำรวจเบื้องต้นในชุมชน  ต่อจากนั้นจึงตัดสินใจเลือกชุมชนที่มีความเหมาะสม  และมีปัญหาที่สามารถดำเนินการวิจัยได้

(1.2)  การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน  เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาผลักดันให้เกิดความร่วมมือร่วมใจระหว่างสมาชิกของชุมชน ทั้งนี้ ผู้วิจัยจะต้องเป็นผู้ที่คนในชุมชนไว้วางใจและให้การยอมรับ   จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้วิจัยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนเสียก่อน  ซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนเป็นศิลปะและเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก  เนื่องจากในปัจจุบันแทบจะไม่มีชุมชนใดที่ไม่เคยมีบุคคลภายนอก นักวิจัย  นักพัฒนาเข้าไป  ทุกชุมชนต่างได้รับอิทธิพลจากสังคมภายนอกมามากบ้างน้อยบ้าง  แต่ละชุมชนจะมีกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ในชุมชน  ซึ่งอาจเป็นการจัดตั้งขึ้นเอง  หรือมีบุคคลอื่นเข้ามาจัดตั้งให้  ดังนั้น  บทบาทภาระหน้าที่ของผู้วิจัยในการดำเนินงานในขั้นตอนนี้  ที่จะทำได้คือ

–  เข้าพื้นที่ด้วยความเชื่อมั่นว่า  บุคคลในชุมชนมีความคิด  ความสามารถในการวิเคราะห์แจกแจงปัญหา  ตลอดจนแก้ปัญหาได้

–  ในทุกโอกาสต้องเปิดให้คนในชุมชนแสดงความคิด  ความรู้สึก  ปัญหา  นักวิจัยต้องรู้จักการรับฟังคนในชุมชนให้มาก

–  บอกตนเองเสมอว่าเป็นเพียงผู้กระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแนวคิดในการพัฒนาเป็นผู้คอยประคับประคองเกื้อหนุนร่วมดำเนินกิจกรรมกับชุมชนและทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้เตรียมความพร้อมทักษะในการปฏิบัติงานให้กับชุมชนรู้จักบูรณาการตนเองให้เข้ากับวิถีชีวิตในชุมชนนั้น

–  ทำการติดต่อกับบุคคลสำคัญๆในชุมชนถ้าเป็นหมู่บ้าน  ได้แก่  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เจ้าอาวาสวัด  ผู้อาวุโสที่คนในชุมชนให้การยอมรับครูพ่อค้าเป็นต้นถ้าเป็นในองค์การหรือหน่วยงานก็ต้องติดต่อกับผู้บริหารผู้เป็นเจ้าของสถานที่เช่น  ผู้อำนวยการ  ครูใหญ่  ครูหัวหน้าสาย  ฝ่ายปกครอง ฝ่ายวิชาการ เป็นต้น โดยแนะนำของตน  ต่อคนในชุมชนว่าท่านเป็นใคร  มาทำอะไร รวมทั้งแนะนำโครงการ  ซึ่งเป็นการเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับงานวิจัยนี้

–  เปิดโอกาสให้มีการซักถาม  และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอด  ทุกขั้นตอน

(2)  ขั้นเริ่มวิจัยใส่ใจกระบวนการชุมชน ขั้นเริ่มวิจัยใส่ใจกระบวนการชุมชน  ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่นักวิจัย  พึงกระทำได้แก่

(2.1)  การศึกษาปัญหาและความต้องการของชุมชน  ตลอดจนการประเมินทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนนั้น  โดยดำเนินการศึกษาร่วมกับชุมชนซึ่งจำเป็นต้องกระทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ชุมชนในเรื่องของกระบวนการและขั้นตอนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  อย่างมีส่วนร่วมในการให้ความรู้แก่ชุมชน  เป็นการใช้รูปแบบและแนวคิดการศึกษาผู้ใหญ่  ครอบคลุมการพัฒนาทักษะต่างๆ นับตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล  ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ของชุมชน  การตีความข้อมูลการสรุปและให้ข้อเสนอแนะบนพื้นฐานของข้อมูล

(2.2)  การกำหนดปัญหา  ซึ่งในเบื้องต้นอาจพบว่าชุมชนมีปัญหาและความต้องการที่หลายหลายแต่เมื่อถึงขั้นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอาจจะพบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเลือกและกำหนดปัญหามีการลำดับความสำคัญของปัญหา  โดยพิจารณาจากปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ  เช่น ความรุนแรงของปัญหา  ความยากง่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหา  ความเร่งด่วนของปัญหา  และจากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน  การนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการอภิปรายแสดง  ความคิดเห็นและตัดสินใจในการเลือกและกำหนดปัญหา

(2.3)  การร่วมกันออกแบบการวิจัย โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยกำหนดวิธีการเก็บข้อมูลอะไร  อย่างไร  ส่วนใดจะใช้แบบสอบถาม  สัมภาษณ์  สังเกต  หรืออาจจะใช้การอภิปรายกลุ่ม  จะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลนานเท่าไร  ใครจะรับผิดชอบเก็บข้อมูลในเรื่องอะไรเป็นต้น

(2.4)  การวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นตอนนี้  อาจพบข้อจำกัด  สำหรับคนในชุมชน  ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเนื่องจากประสบการณ์และความรู้ในเรื่องการวิจัยมีจำกัด  ดังนั้น  ตัวผู้วิจัย  จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนคัดเลือกสมาชิกในชุมชนที่มาร่วมควรจะเป็นผู้ที่อ่านออกเขียนได้  ทั้งนี้เมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปแล้ว  สมาชิกชุมชนก็จะได้รับทราบถึงสถานการณ์ของปัญหาที่ได้มีการหยิบยกมาว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด  อะไรคือสาเหตุของปัญหา  มีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ใครหรือกลุ่มใดที่มีผลกระทบ หรือได้รับความเดือดร้อน จากปัญหานั้นๆ ใครหรือกลุ่มใด  ที่มีผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อน  จากปัญหานั้นบ้าง

(2.5)  การนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมของชุมชน  เพื่อให้ชุมชนได้ทราบ  และเป็นการร่วมกันยืนยัน  และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  พร้อมกับเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำผลการวิจัยไปใช้ในการจัดทำแผนงาน  หรือโครงการเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

(3)  ขั้นพัฒนามุ่งแก้ปัญหาชุมชน  ขั้นตอนมุ่งแก้ปัญหาชุมชน  ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่นักวิจัยพึงดำเนินการดังนี้

(3.1)  กำหนดโครงการเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ  ระบุกิจกรรมต่างๆ ข้นตอนการดำเนินงานให้ชัดเจน  กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาชิก  แต่ละคนในการดำเนินกิจกรรม  จัดทำตารางและกำหนดเวลาที่จะดำเนินตามโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ในขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้  ยังเป็นกระบวนการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกในชุมชนผู้วิจัย  นอกจากจะเป็นผู้ที่คอยกระตุ้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ แล้วผู้วิจัยอาจจะต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น  แนะนำช่องทางในการหาแหล่งทรัพยากร  หรือแหล่งที่ให้สนับสนุนจากภายนอกชุมชน  นอกเหนือจากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน  เพื่อนำมาใช้ดำเนินงาน

(3.2)  การปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้  โดยมีแกนนำ  หรือกลุ่มในชุมชน  เป็นกลุ่มทำงานแต่กลุ่มนี้จะต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่สมาชิกในชุมชนให้การยอมรับ  โดยกลุ่มทำงานหรือกลุ่มแกนนำนี้อาจจะเป็นกลุ่มหรือองค์กรที่อยู่ในชุมชนซึ่งมีความเหมาะสม  สอดคล้องกับวัตถุประสงค์  หรือลักษณะของงาน  แต่ในกรณีที่ชุมชนไม่มีกลุ่มหรือองค์กรที่เหมาะสม  ก็มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่  เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของกิจกรรมที่ได้ตั้งไว้  สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือ  การกระจายหน้าที่  ความรับผิดชอบต่างๆ ระหว่างสมาชิกของชุมชนระหว่างสมาชิกในกลุ่มทำงาน  ระหว่างสมาชิกชุมชนกับผู้วิจัย  และการมอบหมายงานให้ตรงกับศักยภาพและความสามารถของบุคคล  การกระจายทรัพยากร  และการให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่างๆ  ทั้งนี้ในการกำหนดกิจกรรมในการดำเนินงาน  จำเป็นต้องอาศัยความรู้  และทักษะเฉพาะบางประการ  ซึ่งรวมทั้งเทคนิคการบริหารงาน  การทำงานร่วมกัน  การแก้ปัญหา  เพิ่มพูนทักษะต่างๆ ในการปฏิบัติงาน  จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ  ของผู้วิจัยในการจัดอบรมหรือ จัดหาวิทยากรภายนอกหรือแม้แต่ในชุมชนเองที่จะเสริมความรู้  ทักษะให้กับสมาชิกทั้งก่อนและขณะปฏิบัติการ

(3.3)  การติดตามและประเมินผลซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่มีจำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อดูปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานว่ามีอะไรบ้างที่จะต้องแก้ไข  โครงการและกิจกรรมต่างๆ  ดำเนินไปตามแผนงานที่กำหนดไว้หรือไม่  ในขั้นตอนนี้สมาชิกของชุมชนยังมีส่วนร่วม  และเป็นผู้ดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการ  ดังนั้นจำเป็นเช่นกันที่กลุ่มติดตามและประเมินผล  จะได้รับการฝึกอบรมความรู้และเทคนิคในการติดตามและประเมินผลอย่างง่ายๆ จากผู้วิจัยก่อนที่จะปฏิบัติงานเพื่อความเหมาะสมอาจมีการจัดตั้งกลุ่มติดตาม  และประเมินผล  กลุ่มใหม่ขึ้นอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้  เพื่อทำหน้าที่นี้  โดยเฉพาะเพียงป้องกันอคติที่จะเกิดขึ้น  ในการติดตามและประเมินผล

โดยสรุปการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ร่วมทำการศึกษาค้นคว้าปัญหาความต้องการ  คิดและหาวิธีแก้ปัญหา  เพื่อให้มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น

(1)  ประชาชนมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและจัดลำดับความสำคัญของปัญหา

(2)  ประชาชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุผล  และที่มาของปัญหา

(3)  ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการและพิจารณาวางแผนแก้ปัญหา

(4)  ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผน

(5)  ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผล  วิเคราะห์ปัญหา  อุปสรรคและปัจจัยที่มีส่วนทำให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  จึงเป็นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการวิจัย นับตั้งแต่การระบุปัญหาการดำเนินการ การติดตามผล จนถึงขั้นประเมินผลในระหว่างการดำเนินการควรประเมินความสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัยกับชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา  และทบทวนวัตถุประสงค์ของการวิจัยเป็นครั้งคราว  เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นของชาวบ้าน  อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกระบวนการวิจัยก็ต้องดำเนินไปโดยความร่วมมือกับทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบสิ้นกระบวนการ ดังต่อไปนี้ (ไพโรจน์ ชลารักษ์. 2548 : 20-21)

(5.1) ขั้นการศึกษาบริบท ในขั้นนี้ นักวิจัยจะทำการกำหนดพื้นที่หรืออาณาบริเวณที่จะทำการศึกษาวิจัยเพื่อทำประชาคม   โดยมีนักพัฒนาประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ชาวบ้านเข้าร่วม และชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมการวิจัย

(5.2) ขั้นกำหนดปัญหา ในขั้นตอนนี้  นักวิจัยสรุปคำถามหรือปัญหา รวมทั้งอธิบายเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการแก้ไขปัญหาให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจตรงกัน  ส่วนนักพัฒนาทำความเข้าใจประเด็นปัญหาละมองถึงผลของการวิจัยได้อย่างชัดเจน และครอบคลุมส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ และชาวบ้านได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็น  ความต้องการ

(5.3)  ขั้นการวางแผนปฏิบัติงานวิจัย  ในขั้นตอนนี้   นักวิจัยจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานวิจัยให้ชัดเจน รวมทั้งระบุด้วยว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยแต่ละฝ่ายจะมีส่วนร่วมอะไร และอย่างไร เมื่อใดบ้าง พร้อมทั้งแผนการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการวิจัย   ส่วนนักพัฒนาจะเข้าร่วมปฏิบัติการวิจัยโดยติดตามผลการดำเนินงานวิจัยทุกขั้นตอน และคอยตรวจสอบผลของการดำเนินงานว่ามีสิ่งใดที่ผิดพลาด หรือไม่เป็นไปตามแผนหรือเป้าหมาย หรือมีสิ่งใดที่เกิดแทรกซ้อนขึ้นมาหรือไม่  โดยชาวบ้านนั้น จะเข้ามีส่วนร่วมลงมือในการปฏิบัติงานวิจัยตามแผน และตรวจสอบผลว่าพึงพอใจหรือไม่

(5.4)  ขั้นการติดตาม ตรวจสอบและปรับปรุง  รวมทั้งการแก้ไขระหว่างการปฏิบัติงานวิจัย

(5.5)  ขั้นการสรุปผลการวิจัย ในขั้นตอนนี้ นักวิจัยจะทำการสรุปผลการวิจัย และเรียบเรียงเป็นรายงานการวิจัยออกเผยแพร่  นักพัฒนามีส่วนร่วมด้วยการรับทราบและตรวจสอบประเมินผลการวิจัยว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้าง  โดยชาวบ้านเข้ามีส่วนร่วมด้วยการให้ข้อมูลย้อนกลับผลของการวิจัยว่าพึงพอใจและได้ผลตามที่คาดหวังไว้หรือไม่  และแสดงความคิดเห็นอื่นประกอบข้อมูลด้วยว่าเพราะเหตุใด  เพื่อให้การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้มีแนวทางที่จะทำให้บรรลุประสงค์จึงยึดกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้เป็นแนวทางในกระบวนการศึกษาวิจัย