การพัฒนาสังคมไทยที่ต้องสร้างความภูมิใจกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
1) ภูมิปัญญาท้องถิ่น
1.1) ความหมายของภูมิปัญญาท้องถิ่น
สามารถ จันทร์สูรย์ (สามารถ จันทร์สูรย์. 2532 : 88-93)กล่าวว่า “ภูมิปัญญา” เป็นคำที่ใช้กันในหมู่นักการศึกษามานานแล้ว “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” หรือ “ภูมิปัญญาไทย” มีผู้สนใจพูดถึงกันมากขึ้นเมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้ ทั้งองค์กรภาครัฐ (GO) และองค์กรภาคเอกชน (NGO) การเข้าใจเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมของชาวบ้าน และทำให้เข้าใจภาพรวมวัฒนธรรมของชาติได้ ดังนั้นเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่าภูมิปัญญาชาวบ้านคืออะไร สำคัญอย่างไรและมีแนวทางวิธีการศึกษาและส่งเสริมเผยแพร่อย่างไร
ภูมิปัญญา (Wisdom) หรือ มิปัญญาชาวบ้าน (Popular wisdom) หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local wisdom) ก็เรียกหมายถึงพื้นเพรากฐานของความรู้ของชาวบ้าน หรือความรอบรู่ของชาวบ้านที่เรียนรู้และมีประสบการณ์สืบต่อกันมาทั้งทางตรงคือประสบการณ์ด้วยตนเองหรือทางอ้อม ซึ่งเรียนรู้จากผู้ใหญ่หรือความรู้สะสมที่สืบต่อกันมา กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดได้เองที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นสติปัญญา เป็นองค์ความรู้ทั้งหมดของชาวบ้าน ทั้งกว้าง ทั้งลึก ที่ชาวบ้านสามารถคิดเอง ทำเอง โดยอาศัยภูมิปัญญาเกิดจาการสะสมการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนาน มีลักษณะเชื่อมโยงกันไปหมดในทุกสาขาวิทยา ไม่แยกเป็นวิชาๆ แบบที่เราเรียน ฉะนั้นวิชาเกี่ยวกับเศรษฐกิจอาชีพ ความเป็นอยู่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาวัฒนธรรมนั้นจะผสมกลมกลืนเชื่อมโยงกันหมด ภูมิปัญญามี 2 ลักษณะ คือ
(1) ลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นโลกทัศน์ชีวทัศน์ เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน
(2) ลักษณะที่เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับเฉพาะด้านต่างๆ เช่น การทำมาหากิน การเกษตรกร หัตถกรรม ศิลปดนตรี และอื่นๆ ภูมิปัญญาเหล่านี้สะท้อนออกมาใน 3 ลักษณะที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกันคือ
(2.1) ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช ธรรมชาติ
(2.2) ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ร่วมกันในสังคม หรือในชุมชน
(2.3) ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย ทั้งสามลักษณะนี้คือ สามมิติของเรื่องเดียวกัน คือ ชีวิตของชาวบ้าน สะท้อนออมาถึงภูมิปัญญา ในการดำเนินชีวิตอย่างมีเอกภาพเหมือนสามมุมของรูปสามเหลี่ยม ภูมิปัญญาจึงเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
ทำไมจึงต้องสนใจเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาเป็นเรื่องของการสืบทอดประสบการณ์จากอดีตถึงปัจจุบันที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไม่ขาดสาย เป็นธรรมชาติของชาวบ้านที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ต่อกันมามิได้ขาด เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ภายในโดยชาวบ้านเอง หรือเรียกว่า คนในโดยคนนอก ไม่เข้าไปบงการครอบงำมากมายนัก ทำให้สังคมชาวบ้านเป็นปึกแผ่นมั่นคง ไม่แตกสลาย หมู่บ้านไทยไม่ถึงขั้นวิกฤตต้องมาหาทางออกด้วยวิธีต่างๆ อย่างในปัจจุบัน ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นักบริหารหรือพวกที่เรียกตัวเองว่า นักพัฒนา มองชาวบ้านว่าเป็นพวกที่น่าสงสาร ต่ำต้อยยังไม่พัฒนา ได้โหมการพัฒนาไปสู่ชนบทเป็นการใหญ่ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าตามอุดมการณ์ และความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากประเทศตะวันตกในรูปแบบของโครงการต่างๆ และด้วยเงินงบประมาณของรัฐจำนวนมหาศาล ที่เน้นการใช้วิทยาการหรือเทคโนโลยีแผนใหม่ โดยการขาดการเชื่อมโยงเทคโนโลยีแผนเก่าที่มีมาแต่อดีต ขาดการปรับปรนที่เหมาะสม เป็นผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป จนไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีความสุขเหมือนในอดีตที่ค่อยๆ สืบทอดเชื่อมโยงภูมิปัญญาต่อๆ กันมาโดยตลอด การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทำให้ชาวบ้านสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มขาดความภาคภูมิใจในรากเหง้าพื้นเพของตัวเอง ขาดความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ความเป็นอิสระน้อยลง ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เริ่มไม่กล้าตัดสินใจดำเนินชีวิตเองเนื่องจากถูกครอบงำ สั่งการ ตัดสินใจแทนโดยคนนอกเสียไปส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อชาวบ้านจะลงมือปลูกพืชต้องไปถามคนอื่นที่เป็นคนนอกว่า ควรจะเลือกพันธุ์อะไร ปลูกและดูแลอย่างไร ขายอย่างไรและในที่สุดก็จะถูกแนะนำให้ปลูกอย่างเดียวตามความต้องการของเขา (ตลาด) เช่น มันสำปะหลัง ปอ เป็นต้น ตามที่เขาแนะนำแล้ว ใส่ปุ๋ย ใช้ยาปราบศัตรูพืชตามที่เขาแนะนำและสุดท้ายก็ต้องขายตามราคาที่เขาแนะนำ (กดราคา) อีก ผลก็คือ ขายได้เงินน้อย เกิดหนี้สินได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้คนอื่นเป็นคนนอก (นายทุน) รวยส่วนตนเอง (ชาวบ้าน) ยิ่งจนลง แถมในที่สุดต้องขายที่นาหมดเพื่อใช้หนี้สินและจากการปลูกพืชอย่างเดียวจำเป็นต้องหักร้างถางพงทำลายแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ลงไปอย่างน่าเสียดายอีกต่างหาก นี่กล่าวถึงเพียงกรณีตัวอย่างเดียวเท่านั้นซึ่งความจริงยังมีกรณีตัวอย่างอีกมากมาย สภาพเช่นนี้ถือว่าเริ่มสูญเสียภูมิปัญญาของชาวบ้านไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่ออนาคตของชาวบ้านเอง และของชาติโดยส่วนรวมในที่สุด
หวนคืนสู่อดีตหรืออย่างไร เมื่อมีการกล่าวถึงภูมิปัญญาชาวบ้านก็มักไม่พ้นที่จะกล่าวถึงรากเหง้าพื้นเพของชาวบ้านในอดีตในแง่ดีอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงไม่ว่ายุคสมัยใดย่อมมีทั้งจุดที่ดีและจุดที่มีดี (ดีน้อย) ปะปนคละเคล้ากันไปเพียงแต่ราพูดถึงจุดดีหรือแง่ดีของอดีตเพื่อให้มีการนำมาเชื่อมโยงสัมพันธ์ปรับปรนรับใช้ปัจจุบันและอนาคตให้มากขึ้นเป็นสำคัญ คงไม่ใช้ชักชวนชาวบ้านกลับคืนไปสู่อดีตหรือพากันฟูมฟายหาอดีต (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ไม่ใช่เรื่องการแสงหาสวรรค์หายอะไรพวกนั้น แต่เป็นเรื่องจริงที่เป็นไปได้แล้วและกำลังเป็นไปในหลายแห่งในประเทศไทยนี้ ดังกรณีของปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านที่มีผลงานให้ปรากฏอย่างน่าชื่นชม เช่น หลวงพ่อนาน สุทธสีโล ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม พ่อจารย์ทองดี นันทะ พ่อผู้ใหญ่ผาย สร้อยสระกลาง พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย พ่อชาลี มาระแสง เป็นต้น จากกรณีปราชญ์ชาวบ้านดังกล่าวข้างต้น และท่านอื่นๆ ที่กำลังเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ที่ชาวบ้านมีความสำนึกทางประวัติศาสตร์ในอดีต ศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถถ่ายทอดเชื่อมโยงต่อเข้ากับรากเหง้าพื้นเพอดีตของตนเองได้อย่างเหมาะสม ทำให้มีความเป็นอิสระในการคิดการทำมากขึ้น สามารถตัดสินใจอย่างมีความเชื่อมั่นในตนเอง ที่เป็นความพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคงรากเหง้าแห่งคุณค่าดั้งเดิมไว้อย่างมีเอกลักษณ์และมีศักดิ์ศรี การถ่ายทอดเชื่อมโยงภูมิปัญญาชาวบ้านดังกล่าว นับว่าเป็นการแสวงหาของใหม่ในปัจจุบันโดยมีรากเหง้าพื้นเพเดิมที่มั่นคงและมีเอกลักษณ์ ย่อมสามารถขยายผลได้ดีกว่าการเริ่มใหม่ทั้งหมด โดยขาดฐานเหง้าอันมั่นคง เช่นเดียวกับการติดตาหรือต่อยอดมะม่วงหรือไม้ผลอื่นๆ ก็ตาม เกษตรกรผู้ชำนาญย่อมมักจะเลือกลำต้นที่มีรากเหง้าหรือรากแก้วอันมั่นคงก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อได้รากแก้วที่มั่นคงแล้วก็สามารถต่อยอด ติดตาหรือเสียบกิ่งขยายให้เป็นพันธุ์ใหม่ต่างๆ ได้มากมายและแข็งแรงดีด้วย เปรียบเสมือนการสืบทอดภูมิปัญญาที่กำลังกล่าวถึงฉันใดก็ฉันนั้น
ถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างไร ชาวบ้านทุกหมู่เหล่าได้ใช้สติปัญญาของตนสั่งสมความรู้ประสบการณ์เพื่อการดำรงชีพมาโดยตลอด และย่อมถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งตลอดมาด้วยวิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยอาศัยศรัทธาทางศาสนา ความเชื่อถือผีสางต่างๆ รวมทั้งความเชื่อบรรพบุรุษเป็นพื้นฐานในการถ่ายทอดเรียนรู้สืบต่อกันมา จากบรรพบุรุษในอดีตถึงลูกหลานในปัจจุบัน ซึ่งพอจะจำแนกได้คือ
(1) วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่เด็ก เด็กโดยทั่วไปมีความสนใจในช่วงเวลาสั้นในสิ่งที่ใกล้ตัว ซึ่งแตกต่างจากผู้ใหญ่ กิจกรรมการถ่ายทอดต้องง่ายไม่ซับซ้อนสนุกสนาน และดึงดูดใจ เช่น การละเล่น การเล่านิทาน การลองทำ (ตามตัวอย่าง) การเล่นปริศนาคำทาย (ชัยอนันท์ สมุทวนิชและสมบัติ จันทวงศ์. 2523. อ้างถึงใน สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2534: 90) เป็นต้น วิธีการเหล่านี้เป็นการสร้างเสริมนิสัยและบุคลกิภาพที่สังคมปรารถนา ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นจริยธรรมที่เป็นสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
(2) วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ถือว่าเป็นผู้ที่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาพอสมควรแล้ว และเป็นวัยทำงาน วิธีการถ่ายทอดทำได้หลายรูปแบบ เช่น วิธีบอกเล่าโดยตรงหรือบอกเล่าโดยผ่านพิธีสู่ขวัญ พิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นต่างๆ ดังจะเห็นได้โดยทั่วไปในพิธีการแต่งงานของทุกท้องถิ่น จะมีขั้นตอนมีคำสอนที่ผู้ใหญ่สอนคู่บ่าวสาวอยู่ทุกครั้งรวมทั้งการลงมือประกอบอาชีพตามอย่างบรรพบุรุษก็มีการถ่ายทอดเชื่อมโยงประสบการณ์มาโดยตลอด
แนวทางการศึกษาและเผยแพร่ภูมิปัญญาชาวบ้านการถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นเรื่องของชาวบ้านรุ่นหนึ่งถ่ายทอดสู่ชาวบ้านอีกรุ่นหนึ่งด้วยวิธีการหลายลักษณะตามที่กล่าวมาแล้ว นับว่าเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติของแต่ละชุมชน การที่ชาวเมืองหรือที่เรียกตัวเองว่านักวิชาการหรือนักพัฒนา จะเข้าไปร่วมสอดแทรกในการเผยแพร่หรือถ่ายทอดด้วยวิธีการสมัยใหม่ โดยใช้สื่อที่หลากหลายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และควรจะระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะบางกรณีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้งเกินกว่าจะเข้าใจโดยการใช้สื่อหรือวิธีการสมัยใหม่ในเวลาอันจำกัด เช่น การใช้สื่อให้เข้าใจในความเชื่อเรื่องผีที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติกับสิ่งที่แวดล้อมกับอำนาจภายนอกตน ที่มองไม่เห็นแต่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแน่นแฟ้นอย่างแยกไม่ออก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน แม้ว่าจะเป็นองค์ความรู้อันมหาศาลที่มีอยู่ทั่วไปทุกหมู่บ้านก็ตาม เมื่อถูกละเลยขาดการยอมรับ ขาดการสืบทอด ในที่สุดก็จะขาดสายใยแห่งการต่อโยงระกว่างเก่ากับใหม่ ระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างน่าเสียดายจึงจำเป็นจะต้องหาแนวทางดำเนินการต่างๆ เพื่อเป็นการยกย่องภูมิปัญญาชาวบ้านให้สืบทอดต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงการศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้านดังกล่าวจึงควรมีแนวทางที่จะดำเนินการ พอสรุปได้ดังนี้
(1) การทำความเข้าใจเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยอันดับแรก ควรส่งเสริมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นอย่างน้อย จากนั้นควรจัดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมศึกษาดูงาน พบปะสนทนากับปราชญ์ชาวบ้านผู้มีผลงานที่น่าชื่นชม น่าสนใจต่างๆ นอกจากนี้ควรให้โอกาสไปร่วมกิจกรรมของชุมชนที่ปราชญ์ชาวบ้านได้จัดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชาวบ้าน รู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งสำหรับเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะร่วมวางแผนดำเนินการส่งเสริมพัฒนา ฟื้นฟู สืบทอดเกี่ยวกับเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านต่อไป
(2) การเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญา โดยประสานกับจังหวัด ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอทุกแห่ง ขอความร่วมมือเก็บรวบรวมข้อมูลด้านภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่มากมายหลายตามทุกหมู่บ้านทั่วประเทศอย่างจริงจัง โดยการเดินทาวไปสืบค้น สอบถาม ขอความร่วมมือจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลมา แล้ววิเคราะห์จัดระบบแล้วจัดพิมพ์ในรูปแบบของสื่อเอกสารหรือสื่อเผยแพร่อื่นๆ สำหรับการศึกษา ส่งเสริม เผยแพร่ ค้นคว้า วิจัยในระดับลึกต่อไป
(3) การศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในรากเหง้าพื้นเพของภูมิปัญญาในแต่ละด้าน ในแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ โดยเน้นให้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เป็นพิเศษ
(4) การส่งเสริมเผยแพร่ โดยรวบรวมองค์ความรู้ที่เหมาะสมแล้วเลือกสรรอย่างพิถีพิถัน ระมัดระวังที่เหมาะสมในแต่ละประเด็นแต่ลักษณะ นำมาจัดทำสื่อการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทุกสาขาตามโอกาสอันเหมาะสม โดยมีเป้าหมายเผยแพร่ในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านนำความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านเหล่านั้นไปสืบทอดปรับปรนให้ทันสมัย ส่วนการเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศเพื่อให้เห็นถึงศักดิ์ศรีอันดีงามของปราชญ์ชาวบ้านไทย และเกียรติภูมิของชาติไทยเป็นสำคัญ
(5) การสนับสนุนคืนภูมิปัญญาให้แก่ชาวบ้าน โดยการยอมรับในความเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ดูถูกดูแคลนว่าเขาโง่เง่า ยอมรับในศักยภาพของชาวบ้านให้เป็นตัวของตัวเอง ให้มีอิสระสามารถตัดสินใจได้เองอย่างมีศักดิ์ศรี เลิกลงการ เลิกครอบงำชาวบ้าน โดยการยกย่องชาวบ้าน ให้กำลังใจในผลงานที่เขาคิดเขาทำ เป็นการเสริมแรงให้มีความเชื่อมั่นว่าเขามีความสามารถในการช่วยตนเองได้เหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนควรเดินทางไปฟังชาวบ้านพูด ไปศึกษาความรู้จากชาวบ้าน ไปร่วมทำงานกับชาวบ้าน ช่วยเหลือสนับสนุนในกิจกรรมที่ชาวบ้านคิด ชาวบ้านทำ ด้วยความเคารพ
(6) การประสานแผนเพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินงาน โดยการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีการร่วมมือกันไปศึกษาข้อมูล หาความรู้ด้านภูมิปัญญาชาวบ้านจากปราชญ์ชาวบ้าน แล้วสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันของชาวบ้าน แล้วสร้างเครือข่ายให้มีการเชื่อมโยงสืบทอดปรับปรนร่วมผนึกกำลังกันแบ่งงานกันทำตาม ศักยภาพของปราชญ์แต่ละท้องถิ่นแต่ละด้าน โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง (สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2534 : 88-93)
2) การพัฒนาวัฒนธรรมบนพื้นฐานภูมิปัญญาชาวบ้านและศักยภาพของชุมชน”
พัทยา สายหู (2534 : 109-117) ได้ให้ความหมายโดยสังเขปของคำต่อไปนี้ ได้แก่
(1) “การพัฒนา” คือ การทำให้ดีขึ้น
(2) “วัฒนธรรม” คือ เครื่องมืออุปกรณ์การดำรงชีวิตของหมู่เกาะ
(3) “ภูมิปัญญา” คือ ความรู้ความคิดที่ได้สั่งสมไว้
(4) “ชาวบ้าน” คือ คนธรรมดาหรือสามัญชน
(5) “ศักยภาพ” คือ พลังอำนาจหรือความสามารถที่จะนำออกมาใช้ได้
(6) “ชุมชน” คือ กลุ่มชนที่อยู่ร่วมกันในบริเวณเดียวกันและมีกิจกรรมปกติของชีวิตเกี่ยวข้องผูกพันกัน ความหมายอย่างสังเขปของแต่ละคำนี้สั้นและซ่อนรายละเอียดอีกหลายอย่างไว้ ที่จำเป็นต้องนำมาแยกแยะพิจารณาต่อไป
การพัฒนาวัฒนธรรม
สำนวน “พัฒนาวัฒนธรรม” เกิดมีใช้กันหลังสำนวน “พัฒนาเศรษฐกิจ” “พัฒนาสังคม” “พัฒนาการเมือง” “พัฒนาการศึกษา” ฯลฯ ซึ่งในแต่ละคำอื่นๆ ที่กล่าวมาก็ยังมีการถกเถียงกันไม่ยุติว่า แต่ละเรื่องนั้นควรหมายถึงรายอะไรบ้างตัวอย่างล่าสุด เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจนั้น หมายถึง การเพิ่มรายได้ประชาชาติเท่านั้น หรือการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมด้วยถ้าหมายถึง ทั้ง 2 สิ่ง จะมีเป้าหมายหรือมาตรการอย่างไร ก่อนหลังหรือพร้อมๆ กันอย่างไร ฯลฯ ถ้า “การพัฒนา” ไม่ว่าเรื่องอะไรหมายถึง “การทำให้ดีขึ้น” นั้นไม่ชัดเจนเพราะ “ดีเลว” เป็นเรื่องอัตวิสัย ตรวจสอบวัดค่าออกมาให้เห็นเป็นมาตรฐานตรงกันไม่ได้ ก็ต้องทำความตกลงกันต่อไปว่าจะใช้เกณฑ์หรือมาตรฐานอะไรที่รับตรงกันได้ว่า “ดีขึ้น” แล้ว “พัฒนา” แล้ว (รายละเอียดของความยุ่งยากนี้ นักวิชาการพอคุ้นกันอยู่ ชาวบ้านที่ไม่ใช่นักวิชาการไม่ค่อยมีปัญหาดังเพลงไทย “ผู้ใหญ่ลี” ที่เคยได้ยินกันถ้าไม่รู้ว่า “สุกร” คืออะไรก็ปล่อยไปเลย มิฉะนั้นก็รู้ตามที่เขาบอกว่า คือ “หมาน้อยธรรมดา” เท่านั้นก็พอ)
การพัฒนาวัฒนธรรมคืออะไร ต้องทำอะไรบ้าง ฯลฯ รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 ช่วงประมาณ พ.ศ. 2548-86 นั่นไม่มีปัญหาข้อสงสัยกำหนดสั่งการเป็นพระราชบัญญัติและรัฐนิยมกันให้เห็นแล้วหลายฉบับแต่ความหมาย ความเข้าใจอย่างนั้นที่ข้าราชการรุ่นเก่า (ซึ่งเกษียณราชการไปหมดแล้ว) รู้จัก ชัดเจนกันมาถึงข้าราชการสมัยหลังก็ต่างกันเป็นหลายความเห็น หลายคนเดี๋ยวนี้ไม่แน่ใจว่าการให้คนไทยสวมหมวกอย่างฝรั่ง ให้คนไทยใช้สรรพนามบุรุษ (บุคคล) ที่ 1 และ 2 เพียง “ฉัน” กับ “ท่าน” และการเขียนภาษาไทยง่ายตามเสียง เช่น “วัดทะนะทัม” แทน “วัฒนธรรม” ฯลฯ เหล่านั้น คือ การพัฒนาวัฒนธรรมธรรมจริง จึงต่างกำหนดเกณฑ์ อย่างอื่นขึ้นแทน เช่น การรักษาเอกลักษณ์ไทยด้วยการฟื้นฟูขนบธรรมเนียม ประเพณีเก่าๆ การอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมเมือง ฯลฯ (ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายวัฒนธรรมของรัฐบาลสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) ล่าสุดมีแนวคิดกันว่า การเก็บรักษาของเก่าที่ไม่มีประโยชน์ความจำเป็นสอดคล้องกับเงื่อนไขสภาพความต้องการของชีวิตปัจจุบันนั้น “การอนุรักษ์” ที่ควรทำบ้างก็ไม่ใช่การพัฒนาของวัฒนธรรม ถ้าพอใจจะใช้คำจำกัดความเสียใหม่ว่า “วัฒนธรรม” คือ “วิถีชีวิตของสังคม” หรืออะไรทำนองนั้น การพัฒนาวัฒนธรรมก็ควรจะหมายถึงการปรับปรุงวิถีชีวิตของหมู่เกาะให้ดีขึ้นตามสภาพเงื่อนไขของชีวิตในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต มากกว่าที่จะหมายถึงการรักษาแบบอย่างวิถีชีวิตของอดีตไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชีวิตปัจจุบัน ฯลฯ การถกเถียงปัญหาว่าการพัฒนาวัฒนธรรมควรมีความหมายอย่างไรแน่ ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติที่ทุกคนยอมรับได้ตรงกัน
เขียนตระหนักว่าความหมายที่มีได้ต่างๆ กันไปนี้ ก็เพราะผู้ใช้มีความเข้าใจและความประสงค์เกี่ยวกับคำนั้น ๆ ไม่เหมือนกัน ผู้เขียนเองมีความเข้าใจดังนี้ว่า การดำรงชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้ใช้วิธีการที่เป็นธรรมชาติล้วน ๆ เยี่ยงในชีวิตของสรรพสัตว์ ทั้งหลายไป แต่อาศัยเครื่องมืออุปกรณ์และวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้ว่าประดิษฐ์คิดทำขึ้นมาด้วยฝีมือความรู้ ความคิดความสามารถ ของมนุษย์ เองแล้วใช้ร่วมกันในหมู่คณะที่คนร่วมอยู่ด้วย อุปกรณ์ช่วยการดำรงชีวิตทั้งหลายที่เห็นได้ว่ามนุษย์สร้างทำขึ้นมานอกเหนือสิ่งที่มีอยู่เองในธรรมชาตินี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นวัตถุรูปธรรมหรือเป็นสิ่งกึ่งรูปธรรมกึ่งนามธรรม เช่น ภาษา กฎเกณฑ์ ระเบียบ วิธีการ สำหรับการกระทำปฏิบัติหรือสิ่งที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม เช่น คติความเชื่อ และค่านิยมเมื่อพิจารณากันจริง ๆ แล้วจะเห็นว่าเป็นเพียงความคิดความรู้สึก ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วเรียกง่ายๆ ด้วยคำว่า “วัฒนธรรม” ถ้าตกลงให้ใช้คำ “วัฒนธรรม” ได้ในความหมายที่ว่านี้ “วัฒนธรรม” ก็คือเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีประโยชน์และจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะนั้น เช่น มีภาษา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องมือวิธีการทำงาน การละเล่น การผักผ่อน ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี กฎหมาย ระเบียบมารยาท ความเชื่อ ศาสนา ปรัชญา ค่านิยม ฯลฯ ที่ร่วมรู้เข้าใจและใช้ตรงกันถ้าไม่ยอมใช้เครื่องมืออุปกรณ์ร่วมกันที่อยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะเดียวกันไม่ได้ แต่ “วัฒนธรรม” ในความหมายที่เป็นเครื่องมือช่วยการดำรงชีวิตนี้ ก็ย่อมควรปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพตามความต้องการและพอใจของเจ้าของได้ เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นนี่คือ “การพัฒนาวัฒนธรรม” ไม่ผิดอะไรกับช่างที่ใช้เครื่องมือในการทำงาน ถ้าเครื่องมือชำรุดบกพร่องก็ต้องแก้ไขซ่อมแซม ถ้าประดิษฐ์เครื่องมือใหม่ให้ได้งานเรียบร้อยรวดเร็วเกิดผลเป็นประโยชน์มากขึ้น ก็เอาเครื่องมือใหม่มาใช้แทนเครื่องมือเก่าเท่านั้นเอง ปัญหาก็เหลือเพียงว่ามีความจำเป็นหรือต้องการใหม่อย่างไรจึงต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ให้ต่างไปกว่าเก่า ถ้าใช้เครื่องมือใหม่แล้วได้ผลตามความจำเป็นและต้องการของชีวิตได้ ก็เป็น “การพัฒนาวัฒนธรรม” และการเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุกชิ้นทีเดียวพร้อมๆ กัน จะพัฒนาส่วนใดก่อนหลังก็ทำได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
3) คุณสมบัติของภูมิปัญญาไทย ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ อย่างน้อย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2557 : ออนไลน์) ดังต่อไปนี้
3.1) เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพต่างๆ มีผลงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นของตน และได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาของตนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงวิถีชีวิตโดยตลอด
3.2) เป็นผู้คงแก่เรียนและหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ผู้ทรงภูมิปัญญาจะเป็นผู้ที่หมั่นศึกษา แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นผู้ลงมือทำ โดยทดลองทำตามที่เรียนมา อีกทั้งลองผิด ลองถูก หรือสอบถามจากผู้รู้อื่นๆ จนประสบความสำเร็จ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน เป็นที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสม นำมาปรับปรุงรับใช้ชุมชน และสังคมอยู่เสมอ
3.3) เป็นผู้นำของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สังคม ในแต่ละท้องถิ่นยอมรับให้เป็นผู้นำ ทั้งผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ และผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นผู้นำของท้องถิ่นและช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
3.4) เป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาล้วนเป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น เอาใจใส่ ศึกษาปัญหา หาทางแก้ไข และช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียงอย่างไม่ย่อท้อ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและบุคคลทั่วไป
3.5) เป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ผู้ทรงภูมิปัญญาเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ลงมือทำงานและผลิตผลงานอยู่เสมอ ปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้นอีกทั้งมุ่งทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง
3.6) เป็นนักปกครองและประสานประโยชน์ของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญา นอกจากเป็นผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนดี จนเป็นที่ยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไปแล้ว ผลงานที่ท่านทำยังถือว่ามีคุณค่า จึงเป็นผู้ที่มีทั้ง “ครองตน ครองคน และครองงาน” เป็นผู้ประสานประโยชน์ให้บุคคลเกิดความรัก ความเข้าใจ ความเห็นใจ และมีความสามัคคีกัน ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่น หรือสังคม มีความเจริญ มีคุณภาพชีวิตสูงขึ้นกว่าเดิม
3.7) มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เป็นเลิศ เมื่อผู้ทรงภูมิปัญญามีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นเลิศ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและบุคคลทั่วไป ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักเรียน นิสิต/นักศึกษา โดยอาจเข้าไปศึกษาหาความรู้ หรือเชิญท่านเหล่านั้นไป เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ได้
3.8) เป็นผู้มีคู่ครองหรือบริวารดี ผู้ทรงภูมิปัญญา ถ้าเป็นคฤหัสถ์ จะพบว่า ล้วนมีคู่ครองที่ดีที่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ให้ความร่วมมือในงานที่ท่านทำ ช่วยให้ผลิตผลงานที่มีคุณค่า ถ้าเป็นนักบวช ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ต้องมีบริวารที่ดี จึงจะสามารถผลิตผลงานที่มีคุณค่าทางศาสนาได้
3.9) เป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญจนได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ผู้ทรงภูมิปัญญา ต้องเป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานพิเศษใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
4) การจัดแบ่งสาขาภูมิปัญญาไทย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2557 : ออนไลน์)
จากการศึกษาพบว่า มีการกำหนดสาขาภูมิปัญญาไทยไว้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่หน่วยงาน องค์กร และนักวิชาการแต่ละท่านนำมากำหนด ในภาพรวมภูมิปัญญาไทย สามารถแบ่งได้เป็น 10 สาขาดังนี้
4.1) สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในภาวการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การทำ การเกษตรแบบผสมผสาน วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ ไร่นาสวนผสม และสวนผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิต การแก้ไขปัญหาโรคและแมลง และการรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นต้น
4.2) สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลิตผล เพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิต และการจำหน่าย ผลิตผลทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารา กลุ่มโรงสี กลุ่มหัตถกรรม เป็นต้น
4.3) สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกัน และรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง ทางด้านสุขภาพ และอนามัยได้ เช่น การนวดแผนโบราณ การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน การดูแลและรักษาสุขภาพแผนโบราณไทย เป็นต้น
4.4) สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล และยั่งยืน เช่น การทำแนวปะการังเทียม การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำ และป่าชุมชน เป็นต้น
4.5) สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสะสม และบริการกองทุน และธุรกิจในชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตรา และโภคทรัพย์ เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน เช่น การจัดการเรื่องกองทุนของชุมชน ในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ และธนาคารหมู่บ้าน เป็นต้น
4.6) สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคน ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของชุมชน การจัดระบบสวัสดิการบริการในชุมชน การจัดระบบสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น
4.7) สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ ศิลปะมวยไทย เป็นต้น
4.8) สาขาการจัดการองค์กร หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการดำเนินงานขององค์กรชุมชนต่างๆ ให้สามารถพัฒนา และบริหารองค์กรของตนเองได้ ตามบทบาท และหน้าที่ขององค์การ เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
4.9) สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถผลิตผลงานเกี่ยวกับด้านภาษา ทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทย และการใช้ภาษา ตลอดทั้งด้านวรรณกรรมทุกประเภท เช่น การจัดทำสารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรต หนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น
4.10) สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์ และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติ ให้บังเกิดผลดีต่อบุคคล และสิ่งแวดล้อม เช่น การถ่ายทอดหลักธรรมทางศาสนา การบวชป่า การประยุกต์ประเพณีบุญประทายข้าว เป็นต้น
5) ลักษณะความสัมพันธ์ของภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาไทยสามารถสะท้อนออกมาใน 3 ลักษณะที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกัน (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2557 : ออนไลน์) คือ
5.1) ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช และธรรมชาติ
5.2) ความสัมพันธ์ของคนกับคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม หรือในชุมชน
5.3) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งเหนือธรรมชาติ ตลอดทั้งสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย
ทั้ง 3 ลักษณะนี้ คือ สามมิติของเรื่องเดียวกัน หมายถึง ชีวิตชุมชน สะท้อนออกมาถึงภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างมีเอกภาพ เหมือนสามมุมของรูปสามเหลี่ยม ภูมิปัญญา จึงเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนโดยแผนภาพที่ 3 ดังนี้
แผนภาพที่ 3 แสดงรากฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย
ที่มา : (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2557 : ออนไลน์)
ลักษณะภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จะแสดงออกมาในลักษณะภูมิปัญญาในการดำเนินวิถีชีวิตขั้นพื้นฐาน ด้านปัจจัยสี่ ซึ่งประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตลอดทั้งการประกอบอาชีพต่างๆ เป็นต้น
ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอื่นในสังคม จะแสดงออกมาในลักษณะ จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และนันทนาการ ภาษา และวรรณกรรม ตลอดทั้งการสื่อสารต่างๆ เป็นต้น
ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ จะแสดงออกมาในลักษณะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา ความเชื่อต่างๆ เป็นต้น
6) คุณค่าและความสำคัญของภูมิปัญญาไทย
คุณค่าของภูมิปัญญาไทย ได้แก่ ประโยชน์ และความสำคัญของภูมิปัญญา ที่บรรพบุรุษไทย ได้สร้างสรรค์ และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง จากอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้คนในชาติเกิดความรัก และความภาคภูมิใจ ที่จะร่วมแรงร่วมใจสืบสานต่อไปในอนาคต เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม ประเพณีไทย การมีน้ำใจ ศักยภาพในการประสานผลประโยชน์ เป็นต้น ภูมิปัญญาไทยจึงมีคุณค่า และความสำคัญ (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2557 : ออนไลน์) ดังนี้
6.1) ภูมิปัญญาไทยช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงปกครองประชาชน ด้วยพระเมตตา แบบพ่อปกครองลูก ผู้ใดประสบความเดือดร้อน ก็สามารถตีระฆัง แสดงความเดือดร้อน เพื่อขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ ต่อประเทศชาติร่วมกันสร้างบ้านเรือนจนเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญากระทำยุทธหัตถี จนชนะข้าศึกศัตรู และทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญาสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเหล่าพสกนิกรมากมายเหลือคณานับ ทรงใช้พระปรีชาสามารถ แก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง ภายในประเทศ จนรอดพ้นภัยพิบัติหลายครั้ง พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน แม้แต่ด้านการเกษตร พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ให้แก่พสกนิกร ทั้งด้านการเกษตรแบบสมดุลและยั่งยืน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นำความสงบร่มเย็นของประชาชนให้กลับคืนมา แนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” แบ่งออกเป็น 3 ขั้น โดยเริ่มจาก ขั้นตอนแรก ให้เกษตรกรรายย่อย “มีพออยู่พอกิน” เป็นขั้นพื้นฐาน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำ ในไร่นา ซึ่งเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการ มูลนิธิ และหน่วยงานเอกชน ร่วมใจกันพัฒนาสังคมไทย ในขั้นที่สอง เกษตรกรต้องมีความเข้าใจ ในการจัดการในไร่นาของตน และมีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางการผลิต และการตลาด การลดรายจ่ายด้านความเป็นอยู่ โดยทรงตระหนักถึงบทบาทขององค์กรเอกชน เมื่อกลุ่มเกษตรวิวัฒน์มาขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะมีศักยภาพ ในการพัฒนาไปสู่ขั้นที่สาม ซึ่งจะมีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์กับสถาบันการเงินคือ ธนาคาร และองค์กรที่เป็นเจ้าของแหล่งพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิต โดยมีการแปรรูปผลิตผล เช่น โรงสี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผล และขณะเดียวกันมีการจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในสังคม จะเห็นได้ว่า มิได้ทรงทอดทิ้งหลักของความสามัคคีในสังคม และการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งทรงสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสร้างอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจ จึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงจัดได้ว่า เป็นสังคมเกษตรที่พัฒนาแล้ว สมดังพระราชประสงค์ที่ทรงอุทิศพระวรกาย และพระสติปัญญา ในการพัฒนาการเกษตรไทยตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์
6.2) สร้างความภาคภูมิใจ และศักดิ์ศรี เกียรติภูมิแก่คนไทย
คนไทยในอดีตที่มีความสามารถปรากฏในประวัติศาสตร์มีมาก เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่น นายขนมต้มเป็นนักมวยไทย ที่มีฝีมือเก่งในการใช้อวัยวะทุกส่วน ทุกท่าของแม่ไม้มวยไทย สามารถชกมวยไทย จนชนะพม่าได้ถึงเก้าคนสิบคนในคราวเดียวกัน แม้ในปัจจุบัน มวยไทยก็ยังถือว่า เป็นศิลปะชั้นเยี่ยม เป็นที่ นิยมฝึกและแข่งขันในหมู่คนไทยและชาวต่าง ประเทศ ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30,000 แห่ง ชาวต่างประเทศที่ได้ฝึกมวยไทย จะรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ในการที่จะใช้กติกา ของมวยไทย เช่น การไหว้ครูมวยไทย การออก คำสั่งในการชกเป็นภาษาไทยทุกคำ เช่น คำว่า “ชก” “นับหนึ่งถึงสิบ” เป็นต้น ถือเป็นมรดก ภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยที่โดด เด่นยังมีอีกมากมาย เช่น มรดกภูมิปัญญาทาง ภาษาและวรรณกรรม โดยที่มีอักษรไทยเป็นของ ตนเองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมไทยถือว่า เป็นวรรณกรรมที่มีความไพเราะ ได้อรรถรสครบทุกด้าน วรรณกรรมหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา
ด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงง่าย พืชที่ใช้ประกอบอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และราคาถูก มี คุณค่าทางโภชนาการ และยังป้องกันโรคได้หลายโรค เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกะเพรา เป็นต้น
6.3) สามารถปรับประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม
คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยนำหลักธรรมคำสอนของศาสนา มาปรับใช้ในวิถีชีวิต ได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไทยเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประนีประนอม รักสงบ ใจเย็น มีความอดทน ให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิด ดำรงวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ปกติสุข ทำให้คนในชุมชนพึ่งพากันได้ แม้จะอดอยากเพราะ แห้งแล้ง แต่ไม่มีใครอดตาย เพราะพึ่งพาอาศัย กัน แบ่งปันกันแบบ “พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้” เป็นต้น ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการใช้ภูมิปัญญา ในการนำเอาหลักของพระพุทธศาสนามา ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน และดำเนินกุศโลบาย ด้านต่างประเทศ จนทำให้ชาวพุทธทั่วโลกยกย่อง ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางพุทธศาสนา และเป็น ที่ตั้งสำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์ แห่งโลก (พสล.) อยู่เยื้องๆ กับอุทยานเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร โดยมีคนไทย (ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี) ดำรงตำแหน่งประธาน พสล. ต่อจาก ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
6.4) สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคม และธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ภูมิปัญญาไทยมีความเด่นชัดในเรื่องของการยอมรับนับถือ และให้ความสำคัญแก่คน สังคม และธรรมชาติอย่างยิ่ง มีเครื่องชี้ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากมาย เช่น ประเพณีไทย ๑๒ เดือน ตลอดทั้งปี ล้วนเคารพคุณค่าของธรรมชาติ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่ทำใน ฤดูร้อนซึ่งมีอากาศร้อน ทำให้ต้องการความเย็น จึงมีการรดน้ำดำหัว ทำความสะอาดบ้านเรือน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีการแห่นางสงกรานต์ การทำนายฝนว่าจะตกมากหรือน้อยในแต่ละปี ส่วนประเพณีลอยกระทง คุณค่าอยู่ที่การบูชา ระลึกถึงบุญคุณของน้ำ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของ คน พืช และสัตว์ ให้ได้ใช้ทั้งบริโภคและอุปโภค ในวันลอยกระทง คนจึงทำความสะอาดแม่น้ำ ลำธาร บูชาแม่น้ำจากตัวอย่างข้างต้น ล้วนเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมและธรรมชาติ ทั้งสิ้น
ในการรักษาป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ได้ประยุกต์ให้มีประเพณีการบวชป่า ให้คนเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ยังความอุดมสมบูรณ์แก่ต้นน้ำ ลำธาร ให้ฟื้นสภาพกลับคืนมาได้มาก
อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลักของคนไทย ที่คำนึงถึงความสมดุล ทำแต่น้อยพออยู่พอกิน แบบ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” ของพ่อทองดี นันทะ เมื่อเหลือกิน ก็แจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง นอกจากนี้ ยังนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอย่างอื่น ที่ตนไม่มี เมื่อเหลือใช้จริงๆ จึงจะนำไปขาย อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเกษตรแบบ “กิน-แจก-แลก-ขาย” ทำให้คนในสังคมได้ช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันกัน เคารพรัก นับถือ เป็นญาติกัน ทั้งหมู่บ้าน จึงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ธรรมชาติไม่ถูกทำลายไปมากนัก เนื่องจากทำพออยู่พอกิน ไม่โลภมากและไม่ทำลายทุกอย่างผิด กับในปัจจุบัน ถือเป็นภูมิปัญญาที่สร้างความ สมดุลระหว่างคน สังคม และธรรมชาติ
6.5) เปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ตามยุคสมัย
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป ความรู้สมัยใหม่ จะหลั่งไหลเข้ามามาก แต่ภูมิปัญญาไทย ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การรู้จักนำเครื่องยนต์มาติดตั้งกับเรือ ใส่ใบพัด เป็นหางเสือ ทำให้เรือสามารถแล่นได้เร็วขึ้น เรียกว่า เรือหางยาว การรู้จักทำการเกษตรแบบผสมผสาน สามารถพลิกฟื้นคืนธรรมชาติให้ อุดมสมบูรณ์แทนสภาพเดิมที่ถูกทำลายไป การรู้จักออมเงิน สะสมทุนให้สมาชิกกู้ยืม ปลดเปลื้องหนี้สิน และจัดสวัสดิการแก่สมาชิก จนชุมชนมีความมั่นคง เข้มแข็ง สามารถช่วยตนเองได้หลายร้อยหมู่บ้านทั่วประเทศ เช่น กลุ่มออมทรัพย์คีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดในรูปกองทุนหมุนเวียนของชุมชน จนสามารถช่วยตนเองได้
เมื่อป่าถูกทำลาย เพราะถูกตัดโค่น เพื่อปลูกพืชแบบเดี่ยว ตามภูมิปัญญาสมัยใหม่ ที่หวังร่ำรวย แต่ในที่สุด ก็ขาดทุน และมีหนี้สิน สภาพแวดล้อมสูญเสียเกิดความแห้งแล้ง คนไทยจึงคิดปลูกป่า ที่กินได้ มีพืชสวน พืชป่าไม้ผล พืชสมุนไพร ซึ่งสามารถมีกินตลอดชีวิตเรียกว่า “วนเกษตร” บางพื้นที่ เมื่อป่าชุมชนถูกทำลาย คนในชุมชนก็รวมตัวกัน เป็นกลุ่มรักษาป่า ร่วมกันสร้างระเบียบ กฎเกณฑ์กันเอง ให้ทุกคนถือปฏิบัติได้ สามารถรักษาป่าได้อย่างสมบูรณ์ดังเดิม
เมื่อปะการังธรรมชาติถูกทำลาย ปลาไม่มีที่อยู่อาศัย ประชาชนสามารถสร้าง “อูหยัม” ขึ้น เป็นปะการังเทียม ให้ปลาอาศัยวางไข่ และแพร่พันธุ์ให้เจริญเติบโต มีจำนวนมากดังเดิมได้ ถือเป็นการใช้ภูมิปัญญาปรับปรุงประยุกต์ใช้ได้ตามยุคสมัย
7) ภูมิปัญญาไทยกับการส่งเสริมการเรียนรู้และการส่งเสริมอาชีพ
สุมาลี สังข์ศรี และคณะ (อ้างถึงในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2545 : ก-ท)ได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาภูมิปัญญาไทยกับการส่งเสริมการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน ตามนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต และเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยให้ถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดบริการถ่ายทอดความรู้ทั่วไปและความรู้ในการประกอบอาชีพของครูภูมิปัญญาโดยผ่านศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย
(2) เพื่อศึกษารูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยแต่ละประเภท
(3) เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมให้ครูภูมิปัญญาไทยได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน
กลุ่มตัวอย่างสำหรับการวิจัยประกอบด้วยบุคคล 5 กลุ่ม คือ
(1) ครูภูมิปัญญาไทย 9 ด้าน (คือ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรมด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ) เลือกแบบเจาะจงโดยศึกษาข้อมูลจากทำเนียบครูภูมิปัญญา ซึ่งรวบรวมไว้โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และการสอบถามผู้รู้และคนในท้องถิ่นเลือกมาด้านละ 4 ท่าน โดยให้กระจายทุกภาคภาคละ 1 ท่าน เพราะฉะนั้นใน 9 ด้านจะได้ กลุ่มตัวอย่างครูภูมิปัญญา 9 x 4 = 36 ท่าน
(2) บุคลากรการศึกษาในระบบโรงเรียน เลือกโดยการสุ่มอย่างง่ายครูในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับครูภูมิปัญญาแต่ละท่านที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในแต่ละพื้นที่ โดยสุ่มมาพื้นที่ละ 6 คน ได้กลุ่มตัวอย่างรวม 216 คน
(3) บุคลากรของการศึกษานอกระบบ เลือกจากบุคลากรของหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับครูภูมิปัญญาแต่ละท่าน พื้นที่ละ 5 คน ได้กลุ่มตัวอย่างบุคลากรการศึกษานอกระบบ 180 คน
(4) ประชาชน ผู้มารับความรู้จากครูภูมิปัญญาไทยในแต่ละ พื้นที่ เลือกแบบบังเอิญ จากประชาชนที่มารับความรู้ในช่วงที่ผู้วิจัยไปสัมภาษณ์ครูภูมิปัญญาไทย กลุ่มตัวอย่างประชาชน พื้นที่ละ 10 คน ได้กลุ่มตัวอย่างประชาชนใน 36 พื้นที่เป็น 360 คน
(5) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาไทยเลือกแบบเจาะจง 30 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ครูภูมิปัญญาไทย แบบสัมภาษณ์ประชาชนผู้มารับความรู้ในศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย แบบ สอบถามบุคลากรการศึกษาในระบบโรงเรียน และแบบสอบถามบุคลากรการศึกษานอกระบบ การเก็บรวบรวมข้อมูล คณะผู้วิจัยประสานงานกับผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอก โรงเรียนจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างในแต่ละพื้นที่เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการประสานงานเพื่อให้ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างด้วยตนเอง ข้อมูลที่รวบรวมได้ในส่วนของข้อมูลเชิงปริมาณผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ โดยการหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานส่วนข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพทำการวิเคราะห์โดยการสรุป ประเด็นเนื้อหา
ผลการวิจัยในประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้
จากรายงานการวิจัย อ้างถึงในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ งานวิจัยเรื่อง ภูมิปัญญาไทยกับการส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างอาชีพ สรุปภูมิปัญญาไทยกับการส่งเสริมการเรียนรู้ว่า
ตอนที่ 1 สภาพการจัดบริการถ่ายทอดความรู้ของครูภูมิปัญญาไทยผ่านศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยได้มีการศึกษาไว้ทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมและหัตถกรรม แพทย์แผนไทย การจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทุนและธุรกิจชุมชน ศิลปกรรม ภาษาและวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนาและประเพณี และโภชนาการ
(1) สภาพทั่วไปของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ในภาพรวมสามารถสรุปได้ดังนี้
(1.1) ความเป็นมาของภูมิปัญญาไทย ส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้ของคนในท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมา เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน บางส่วนพัฒนามาจากอาชีพที่ทำอยู่เดิมให้ดีขึ้นมีคุณภาพมากขึ้น สามารถผลิตออกจำหน่ายเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ชุมชนมีบทบาท สำคัญในการสร้างภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่น มีการรวมกลุ่มสมาชิกก่อตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ ร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมที่ก่อประโยชน์แก่ชุมชน ทุกคนในชุมชนจะได้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นการสร้างงานสร้างรายได้แก่ครอบครัว อันนำความผาสุกสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนตลอดไป
(1.2) วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ของภูมิปัญญาไทย เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ของภูมิปัญญาไทย เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าและวิจัยภูมิความรู้ใหม่ ๆ เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้สนใจ เป็นแหล่ง เผยแพร่ ภูมิปัญญาไทยไม่ให้สูญหาย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างอาชีพแก่สมาชิกในชุมชน ส่งเสริมอาชีพของท้องถิ่นให้ประชาชนมีการรวมตัวกันประกอบอาชีพภายในชุมชน
(1.3) วิธีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย โดยการสำรวจความต้องการของ ชุมชนรวบรวมผู้สนใจที่ต้องการประกอบอาชีพเข้าเป็นสมาชิก จัดหาสถานที่ถ่ายทอดความรู้และปฏิบัติงาน จัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รับผิดชอบการดำเนินงาน จัดให้มีการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ จัดทำหลักสูตร หาแหล่งเงินทุน วัสดุอุปกรณ์มาสนับสนุน และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ กิจกรรมของศูนย์ฯ
(1.4) การบริหารงานของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย เป็นการสร้างบุคลากรให้มี คุณภาพในการปฏิบัติงาน ให้มีความรับผิดชอบและรู้จักพัฒนาระบบงาน ให้ดีขึ้น มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม สร้างจิตสำนึกให้มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรักสามัคคีและรวมพลังเพื่อชุมชน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป็นทุนใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยสร้างธุรกิจชุมชน เพิ่มจำนวนเงินทุนจากการสะสมทรัพย์ ใช้เงินอย่างถูกวิธี ประหยัด และเกิดประโยชน์คุ้มค่า และสร้างอาชีพให้สมาชิกในชุมชนมีงานทำ คณะกรรมการบริหารมาจากการเลือกตั้งจากสมาชิก (ส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง) และแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ มีการพบปะสมาชิกเป็นประจำ เช่น ทุกเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและชี้แจงให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ เพื่อการบริหารงาน และการจัดกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย
(1.5) แผนการดำเนินการของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย การดำเนินงานจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน ร่วมประสานความคิดระหว่างสมาชิกให้เป็นเวทีการเรียนรู้กับปัญหาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน การดำเนินกิจกรรมส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เริ่มตั้งแต่การ เตรียมการก่อตั้ง ศึกษาข้อมูล รวบรวมสมาชิก จัดหาวิทยาการมาให้ความรู้ ขั้นปฏิบัติการจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ เป็นการให้ความรู้ภาคทฤษฎีและจัด ให้มีการฝึกปฏิบัติสำหรับให้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ขั้นติดตามและประเมินผล เป็นการประเมินผลการดำเนินกิจกรรมที่ได้ทำไปแล้วว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ยังบกพร่องให้ดีขึ้น และสุดท้ายเป็นการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนอื่น
(1.6) ทรัพยากรของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สถานที่ บุคลากร และงบประมาณ สถานที่จะใช้เป็นศูนย์รวมของสมาชิก และเป็นที่แสดงผลงานที่ได้จากการผลิตของสมาชิกในหมู่บ้าน และเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นจุดศูนย์กลาง ของหมู่บ้าน อาจเป็นที่สาธารณะ วัด และศาลาประจำหมู่บ้าน เป็นต้น บุคลากรที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ของศูนย์ภูมิปัญญาไทย คือ ครูภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่น ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในอาชีพเป็นที่ยอมรับ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาวิชานั้นๆ หัวหน้ากลุ่ม เครือข่ายที่มีความรู้ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เป็นผู้บริหารจัดการกลุ่ม และเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพ ส่วนงบประมาณที่จะมาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม อาจได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ และจากประชาชน รายได้จากการประกอบอาชีพของครอบครัว จากการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือจากสมาชิกที่ เข้ารับการอบรม ฯลฯ
(1.7) การมีส่วนร่วมของประชาชน ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยมีบทบาทในการช่วยเหลือและสนับสนุนร่วมมือกับชุมชน โดยมีกลุ่มบุคคลและหน่วยงาน ต่าง ๆ เข้ามาระดมความคิด รวบรวมสมาชิก กำหนดรูปแบบการดำเนินงาน เพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชนเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของ ประชาชน โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มชาวบ้านที่มีอาชีพเดียวกันให้ทำ กิจกรรม สร้างรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน ประธานกลุ่มจะเป็นผู้แนะนำและดูแล การผลิตตาม ขั้นตอนต่างๆ สมาชิกจะร่วมกันทำโดยแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ เมื่อมีผลกำไรจะแบ่งให้กับสมาชิกตามสัดส่วนที่กำหนด
(1.8) เครือข่ายการเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย เป็นการขยายความรู้สู่กลุ่มอาชีพและผู้สนใจในอาชีพเดียวกัน สร้างฐานความมั่นคงในอาชีพให้ขยายสู่ ชุมชนอื่นๆ มีการแลกเปลี่ยนความรู้เทคนิค วิธีการ และเป็นวิทยากรไปบรรยายให้กับกลุ่มเรียนรู้ หรือเครือข่ายต่าง ๆ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็นแหล่ง ให้ความรู้และสาธิตผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม รวมทั้งเป็นที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้มาเยี่ยมชม ซึ่งเป็นสร้างรายได้แก่กลุ่มอีกทางหนึ่งเครือข่ายการเรียนรู้ นอกจาก การบรรยายสาธิตและให้ความรู้แล้ว ยังมีการติดตามพบปะกันในเวทีการประชุมต่างๆ มีการจัดนิทรรศการ และสรุปผลการดำเนินงานเป็นระบบ เพื่อจะได้ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละสภาหรือวัตถุประสงค์ของศูนย์การเรียนนั้น ซึ่งต้องสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้ทันที
(2) สภาพการส่งเสริมการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของครูภูมิปัญญาและศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย
(2.1) การส่งเสริมการเรียนรู้ ภูมิปัญญาไทยทั้ง 9 ด้าน ได้มีส่วนในการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน การเรียนรู้นอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัยในหลาย ลักษณะซึ่งสรุปได้ ดังนี้
(2.1.1) การเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ครูภูมิปัญญาไทยได้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนในหลายรูปแบบ ได้แก่ ครูภูมิปัญญาไทยช่วยโรงเรียน พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในสาระที่ภูมิปัญญามีความรู้อยู่ เช่นวิชาแกะสลัก วิชาการนั้น การเกษตร เป็นต้น ช่วยเป็นวิทยากร (มีทั้งเป็นวิทยากรตลอด ภาคการศึกษาและเป็นวิทยากรเป็นบางโอกาสเป็นแหล่งความรู้ นักเรียนนักศึกษามักจะมาขอสัมภาษณ์ขอความรู้จากครูภูมิปัญญาเพื่อนำไปจัดทำ รายงานเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล ครูภูมิปัญญาไทยหลายท่านได้รวบรวมความรู้ในรูปเอกสาร ตำรา วัสดุของจริง และสื่ออื่น ๆ จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ นักเรียนนักศึกษาสามารถมาศึกษาค้นคว้าเพื่อนำไปเขียนรายงาน เป็นแหล่งศึกษาดูงานเช่น ครูภูมิปัญญาทางด้านเกษตรกรรมทำการปลูกพืชปลอดสารพิษ ทำไร่นาสวนผสม เป็นต้น ครูก็พา นักเรียนที่เรียนวิชาเกษตรมาศึกษาดูงานเพื่อให้ได้ความรู้และประสบการณ์ตรง เป็นแหล่งฝึกงาน เช่น ครูภูมิปัญญาไทย ด้านการแกะสลักไม้ครูจะพานักเรียนที่เรียนเกี่ยวกับศิลปกรรมมาศึกษาดุงานและส่งมาฝึกงานบ้าง นอกจากนั้นครูภูมิปัญญาบางด้านเช่นด้านภาษาและ วรรณกรรม (ครูนันท์ จังหวัดเชียงใหม่) ได้เปิดสอนการร้องเพลง การอ่านคำภาษาพื้นเมืองแก่นักเรียนที่สนให้มาเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
(2.1.2) การเรียนรู้นอกระบบ ครูภูมิปัญญาในแต่ละด้านได้ส่งเสริมการเรียนรู้ของ นักศึกษาและประชาชนที่ศึกษาในลักษณะของการศึกษานอกระบบหลายรูปแบบ ซึ่งค่อนข้างจะคล้ายคลึงกับการส่งเสริมการศึกษาในระบบโรงเรียน ได้แก่ ครูภูมิปัญญาช่วยหน่วยงานหรือสถานศึกษาที่จัดสอนนอกระบบทำหลักสูตรสำหรับ บางวิชาเช่นวิชาส่งเสริมคุณภาพชีวิต และหลักสูตร วิชาชีพ ครูภูมิปัญญาเป็นวิทยากรในวิชาต่างๆ หรือในการฝึกอบรมเรื่องต่างๆ ศูนย์การเรียนรู้ของครูภูมิปัญญา เป็นแหล่งศึกษาดูงาน เช่น ด้านการเกษตร ด้านกองทุน ธุรกิจชุมชน เป็นแหล่งฝึกงานเช่น นักศึกษานอกระบบมาศึกษาดูงานเรื่องดิน เกษตรผสมผสาน เศรษฐกิจชุมชน และการจัดตั้ง สหกรณ์ เป็นต้น นอกจากนั้นในส่วนของกิจกรรมการศึกษานอกระบบมีการฝึกอบรมในเรื่อง วิชาชีพด้วย ซึ่งครูภูมิปัญญาได้มีส่วนช่วยในเรื่องวิชาชีพมากพอสมควรจึง ขอนำไปกล่าวรวมในประเด็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่อไป
(2.1.3) การเรียนรู้ตามอัธยาศัย ครูภูมิปัญญาไทยได้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยในหลายลักษณะ ได้แก่ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ของคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้องศูนย์ การเรียนรู้ปัญญาไทยหลายด้าน เช่น ด้านเกษตรกรรม แพทย์แผนไทย ศิลปกรรม ได้ก่อตั้งขึ้นมา โดยคนในครอบครัวและญาติ พี่น้องช่วยกันและช่วยกันเป็นวิทยากร เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน และประชาชนผู้สอนใจทั่วไป คนในชุมชนและประชาชนทั่วไปสามารถเยี่ยมชม กิจกรรมของศูนย์ การเรียนรู้ เช่น ด้านการทำอาหารคาว-หวาน การแกะสลักไม้ และการทำเครื่องดนตรี เป็นต้น
– ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนในชุมชนและร่วมเรียนรู้ เช่น การทำเครื่องสมุนไพร การทำบายศรี ดอกไม้ใบตอง และการถนอมอาหาร
– เผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ โดยครูภูมิปัญญาไทยทำสื่อขึ้นเอง เช่น ครูอุดม ทางด้านภาษา และวรรณกรรมได้จัดทำพจนานุกรม ภาษาพื้นเมือง ภาคเหนือเผยแพร่เป็นเอกสารและ VCD ครูนันท์ ทางด้านภาษาและวรรณกรรมได้จัดทำการอ่านภาษาพื้นเมือง และเพลงพื้นเมือง เช่น เพลงค่าวในรูป ของเทปเสียงและ VCD
– เผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ โดยหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เป็นผู้เชิญหรือเป็นผู้จัดทำให้ เช่น ครูภูมิปัญญาได้รับเชิญไปเผยแพร่ความรู้ทางรายการ วิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ การจัดพิมพ์หนังสือและเอกสาร
(2.2) การส่งเสริมการประกอบอาชีพ
ครูภูมิปัญญาไทยช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชนในหลายลักษณะ ดังต่อไปนี้
(2.2.1) ครูภูมิปัญญาไทยรับเชิญไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ในวิชาชีพต่าง ๆ เช่น หน่วยงานการศึกษานอกระบบจัดอบรมวิชาชีพแก่นักศึกษา หรือ แก่ประชาชนทั่วไป หรือองค์กร ท้องถิ่นจัดอบรมวิชาชีพแก่ประชาชนในชุมชนและเชิญภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาเป็นวิทยากร เพื่อให้ ผู้เข้ารับ การอบรม ได้รับความรู้ไปปรับปรุงอาชีพที่ทำอยู่หรือสร้างอาชีพใหม่
(2.2.2) จัดอบรมวิชาชีพ ณ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยเกือบทุกแห่งได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปมาฝึกอาชีพได้ เช่น การแกะสลักเครื่องเงิน เกษตร ผสมผสาน ด้านวิชาช่างสิบหมู่งานประดับมุก แพทย์แผนไทย อุตสาหกรรม ฯลฯ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิด ค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเป็นค่าอุปกรณ์ หรือให้ผู้เรียนหาอุปกรณ์มาเอง (เช่น การแกะสลัก เครื่องเงินที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย วัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ เก็บค่าเรียนวันละ 1 บาท เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้เรียน
(2.2.3) เป็นแหล่งศึกษาดูงานและแหล่งฝึกงานทางด้านอาชีพต่าง ๆ ศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาไทยแต่ละประเภทได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไป มาศึกษาดูงานเพื่อหาความรู้ หรือจะมาฝึกงานเพื่อให้มีทักษะเพิ่มขึ้น และบางแห่งยังให้เริ่มประกอบอาชีพกับศูนย์ภูมิปัญญาไทยอีกด้วย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย การนวดแผนโบราณเมื่อผู้สนใจมาเรียนรู้แล้วสามารถสมัครทำงานที่ศูนย์ต่อไปได้อีก
(2.2.4) การช่วยให้เกิดกลุ่มอาชีพในชุมชน นอกจากให้ความรู้ทางด้านอาชีพแล้วครูภูมิปัญญายังช่วยส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพในชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรสมุนไพรของ ครูพะเยาว์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกลุ่มของผู้สูงอายุมาเรียนรู้ร่วมกันแล้วทำเป็นอาชีพตั้งแต่ปลูกสมุนไพรแล้วนำมา ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกจำหน่าย หรือกลุ่มการทำอาหาร กลุ่มจักสาน และกลุ่มทอผ้า เป็นต้น
(2.2.5) การให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ที่จะเริ่มอาชีพใหม่ ครูภูมิปัญญาได้ช่วยให้คำ แนะนำแก่ผู้ที่ฝึกอาชีพจากครูภูมิปัญญาแล้วหรือฝึกมาจาก ที่อื่นและต้องการประกอบอาชีพ นำเรื่องแหล่งเงินทุน เทคนิคการประกอบอาชีพ การตลาด การหาซื้อวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
(2.2.6) การเผยแพร่ความรู้ทางด้านการประกอบอาชีพผ่านสื่อต่างๆ เช่น รายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และ วีดิทัศน์ เป็นต้น
ตัวอย่างการส่งเสริมการประกอบอาชีพของครูภูมิปัญญาไทยด้านต่างๆ
– ครูภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม ช่วยให้ความรู้แก่เกษตรกรจำนวนมากด้านการผลิตฮอร์โมน ผลิตสารไล่แมลงทำให้ช่วยลดต้นทุน การผลิตได้พอสมควร บางศูนย์การเรียนรู้ได้เป็นแหล่งฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นที่ปรึกษาในด้านอาชีพเกษตร ให้คำแนะนำในการประกอบ อาชีพเสริม
– ครูภูมิปัญญาด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ตัวอย่างครูภูมิปัญญาด้านการ จักสานได้มีการฝึกอบรมให้แก่ประชาชนในชุมชน ประกอบ เป็นอาชีพและทำจนเกิดความชำนาญมีการพัฒนาผลงานเรื่อยมาจนเป็นสินค้า OTOP เป็นการเพิ่มรายได้แก่คนในชุมชน
– ครูภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย ศูนย์การเรียนรู้ด้านแพทย์แผนไทยเป็นที่อบรมให้ความรู้ เป็นที่ศึกษาดูงาน และเป็นสถานที่ฝึกงาน เมื่อผู้เข้าอบรมชำนาญก็สามารถออกไปประกอบอาชีพของตนเองได้ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริมมากขึ้น
– ครูภูมิปัญญาไทยด้านกองทุนธุรกิจชุมชน ได้ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกรรมการกองทุน เป็นการสร้างนิสัยให้ ประชาชนรู้จักประหยัดอดออม และเป็นแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพตามที่ต้องการ
– ครูภูมิปัญญาไทยด้านภาษาและวรรณกรรม สาขาวิชานี้อาจจะส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ค่อนข้างน้อยเพราะตลาดรองรับด้านนี้ ยังมีน้อย ส่วนใหญ่ผู้ที่สนใจจะมาเรียนเพื่อต้องการรู้ เพราะมีความสนใจมากกว่าจะมุ่งนำไปประกอบอาชีพ
(3) รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย
จากการสัมภาษณ์ครูภูมิปัญญาไทยทั้ง 9 ด้าน คือ
(3.1) ด้านเกษตรกรรม
(3.2) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
(3.3) ด้านการ แพทย์แผนไทย
(3.4) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
(3.5) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน
(3.6) ด้านศิลปกรรม
(3.7) ด้านภาษาและ วรรณกรรม
(3.8) ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี
(3.9) ด้านโภชนาการ พบว่าในส่วนของความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมา ส่วนใหญ่เป็น รูปแบบของการได้รับการถ่ายทอด อบรม สั่งสอน สืบทอดต่อเนื่องกันมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งครูภูมิปัญญาบางท่านจะได้รับ “องค์ความรู้” ที่สืบทอด ต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ก็มีครูภูมิปัญญาบางท่านในบางด้านที่นอกจากจะได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษโดยตรงแล้ว ยังศึกษาเพิ่มเติม จากผู้เฒ่า ผู้แก่ พระ ปราชญ์ผู้รู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือจากการศึกษาเอกสารตำราทั้งเก่าและใหม่ ทั้งที่เป็นคัมภีร์โบราณ หรือคัมภีร์ใบลาน เช่น กรณีการศึกษาประเพณีท้องถิ่นอีสานของครูบุญเกิด พิมพ์วรรธากุล ครูภูมิปัญญาด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณีที่ศึกษาจากคัมภีร์โบราณ พร้อมๆ กับคำบอกเล่าจากพระ ผู้เฒ่า และปราชญ์ชาวบ้าน หรือกรณีของครูสุเวช เนาว์โนนทอง ครูภูมิปัญญาไทย ด้านการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีความสนใจในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งการเกิดปัญหามลพิษ อันเนื่องจากชาวบ้านตัดต้นไม้เผาถ่าน และการใช้สารเคมีในการปลูกพืชผัก และผลไม้ โดยการศึกษาด้วยตนเองแล้วนำไปทดลองปฏิบัติ แบบลองผิดลองถูก จนได้ผลดีและปฏิบัติต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกิดความชำนาญ และนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่จนมีผู้สนใจนำไป ทดลองใช้และเกิดผลดี จึงนำความรู้ที่ได้ไปใช้ปฏิบัติและเผยแพร่กันอย่างแพร่หลาย สำหรับในส่วนของกระบวนการถ่ายทอดความรู้จากครูภูมิปัญญาสู่คนในชุมชนโดยผ่านศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยนั้นมีลักษณะที่พอสรุปได้ ดังนี้
– เนื้อหาสาระที่ถ่ายทอด เนื้อหาสาระที่นำมาถ่ายทอดแก่คนในชุมชนหรือผู้สนใจทั่วไปก็คือความรู้และประสบการณ์ที่ภูมิปัญญาแต่ละด้านมีอยู่ และอาจจะเป็นความรู้เฉพาะเรื่องภายในแต่ละด้าน เช่น ด้านเกษตรกรรมอาจจะเป็นความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกพืชแบบผสมผสาน การทำปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกพืชปลอดสารพิษ การให้น้ำระบบน้ำหยด วิธีการดูแลบำรุงรักษาดิน การเลี้ยงปลา เทคนิคในการเพิ่มผลผลิต เป็นต้น ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้แก่ ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการทำเครื่องเงิน เครื่องถม การประดับมุก การแกะสลัก การทำเครื่องดนตรีไทย การจักสาน เป็นต้น ด้านศิลปกรรม ได้แก่ การร้องเพลง หมอรำ การแสดง การปั้น การร้อยมาลัยการตกแต่งดอกไม้ เป็นต้น ด้านกองทุนธุรกิจชุมชน ได้แก่ การจัดตั้งสหกรณ์ การทำธนาคารข้าว การจัดทำตลาดของชุมชน ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ได้แก่ องค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ภาษาท้องถิ่น เพลงภาษาท้องถิ่น กาพย์ กลอน ภาษาถิ่น นิทาน ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น เป็นต้น เนื้อหาสาระเหล่านี้บางเรื่องเป็นเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพผู้รับความรู้และประสบการณ์ไปสามารถนำไปประกอบอาชีพ นำไปปรับปรุงอาชีพเดิม หรือนำไปสร้างอาชีพใน การทำมาหากินได้ แต่บางเรื่องเป็นความรู้ทั่ว ๆ ไปที่สามารถนำไปเป็นคติในการดำเนินชีวิต หรือเป็นความรู้ทั่วไปที่นำ ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ดังนั้น ความรู้จากภูมิปัญญาจึงมีทั้งส่วนที่เป็นความรู้ทั่วไปและความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
– กระบวนการถ่ายทอดความรู้ กระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่เกิดขึ้นในศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยในแต่ละด้านตามที่คณะผู้วิจัยได้เดินทางไปสำรวจ และจากการสัมภาษณ์ประชาชน การสอบถามจากบุคลากรการศึกษาในระบบโรงเรียน และบุคลากรการศึกษานอกระบบพอสรุปได้ว่าในศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาไทยแต่ละด้านมีกระบวนการถ่ายทอดความรู้เกิดขึ้นหลายลักษณะผสมผสานกันได้แก่ การบรรยาย การสาธิต การทดลองให้ชม การฝึกปฏิบัติจริง การจัดนิทรรศการ การประชมสัมมนา การจัดเวทีชาวบ้าน การประชุมระดมสมอง การศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติตัวต่อตัว การฝึกปฏิบัติเป็นกลุ่ม การศึกษา จากตัวอย่างของจริง การศึกษาจากเอกสาร การศึกษาจากวีดิทัศน์ และสื่ออื่นๆ การสอนแล้วให้กลับไปฝึกเองแล้ว กลับมาฝึกต่อกับครูภูมิปัญญาไทยอีก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเนื้อหาความรู้ที่จะถ่ายทอดด้วย แต่อย่างไรก็ตามพบว่าวิธีการที่ครูภูมิปัญญาใช้มากที่สุด คือ การบอกเล่า การอธิบายแล้วให้ ฝึกปฏิบัติหรือลงมือทำจริง การบอกเล่าหรือการบรรยายของครูภูมิปัญญาส่วนใหญ่จะไม่มีตำราให้ เพราะองค์ความรู้และประสบการณ์นั้นอยู่ในตัวครูภูมิปัญญา แล้ว ครูภูมิปัญญาก็จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ก็ออกมาจากจิตใจและจากตัวของท่านเองด้วยการบอกเล่า แล้วปฏิบัติให้ดูให้ผู้มาศึกษาฝึกปฏิบัติ ตามความพร้อมทั้งให้ดูตัวอย่างจากของจริง หรืองานจริง แล้วครูภูมิปัญญาช่วยแนะนำให้ปรับปรุงแล้วฝึกต่อกระทำเช่นนี้ไปจนกว่า ผู้ศึกษาจะทำได้ แล้ว ครูภูมิปัญญาก็ให้เริ่มทำงานจริงด้วยการช่วยงานที่ท่านทำอยู่ เช่น การแกะสลักเครื่องเงิน ครูภูมิปัญญาท่านจะถ่ายทอดความรู้โดยอธิบายความรู้พื้นฐาน ทั่ว ๆ ไปโดยไม่มีตำราให้ แล้วให้เริ่มฝึกเขียนลายลงบนแผ่นเงิน ฝึกตีเคาะแผ่นเงิน ต่อมาให้เริ่มแกะขึ้นที่ง่ายก่อไปสู่ส่วนที่ ซับซ้อนมากขึ้น จากนั้นให้ ช่วยงานของท่านปฏิบัติไปและสอนไปพร้อม ๆ กัน ผู้เรียนจะสังเกตจากการทำงานของครูด้วยดูจากชิ้นงานที่ท่านทำในแต่ละขั้นตอนด้วยไปจนถึงชิ้นงาน ที่สำเร็จรูปแล้ว การฝึกนั้นส่วนใหญ่ครูภูมิปัญญาจะฝึกให้ตัวต่อตัว หรือทางด้านศิลปกรรมเพลงพื้นบ้านครูภูมิปัญญาจะเริ่มจากการอธิบายธรรมชาติของเพลง ลักษณะของเพลงของกลอน แล้วให้ผู้ศึกษาเริ่มฝึกการออกเสียง อักขระ การท่องกลอน แล้วฝึกโดยใส่ทำนอง ฝึกร้องแต่ละท่อนจนกระทั่งร้องได้ทั้งเพลง สำหรับภูมิปัญญาด้านอื่นๆ ก็มีกระบวนการในการถ่ายทอดความรู้ใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเนื้อหาความรู้ของภูมิปัญญาด้านนั้นๆ ด้วย บาง ด้านหรือบางเรื่องเช่น การทำยาสมุนไพร เช่น ยาอมสมุนไพร ลูกประคบ ยาหม่อง ฯลฯ ครูภูมิปัญญาจะให้ผู้ศึกษาฝึกทำจริงโดยให้ช่วยงานทุกขั้นตอนตั้งแต่ ช่วยขูดสมุนไพร ล้าง ปอก หั่น บด แล้วช่วยทำทุกขั้นตอนจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ผู้ศึกษาได้เรียนรู้ไปขณะช่วยงานในที่สุดจะเกิดความชำนาญจนสามารถ ปฏิบัติเองได้ ผู้ที่ศึกษาหาความรู้มีจุดมุ่งหมายต่าง ๆ กัน บางคนมาศึกษาดูงานเพื่อให้เห็นว่าเป็นอย่างไรบางคนต้องการนำไปทำใช้เองได้ แต่บางคนต้องการ ฝึกจนชำนาญเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้
– สื่อและอุปกรณ์ที่ประกอบการถ่ายทอดความรู้ สื่อและอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการถ่ายทอดความรู้นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของความรู้แต่ละด้าน ส่วนใหญ่ จะเป็นของจริงหรือวัสดุที่ใช้จริงในการปฏิบัติงาน ส่วนในขั้นของการบรรยาย การให้ความรู้ทั่วไปนั้นอาจจะมีการใช้เอกสารแผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์ วีดิทัศน์ ชุดสาธิต นิทรรศการและคอมพิวเตอร์ แล้วแต่กรณี ส่วนในขั้นฝึกปฏิบัติส่วนใหญ่จะใช้วัสดุของจริง เช่น การทำดอกไม้ใบตอง การจักสาน การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทอผ้า การทำอาหาร ฯลฯ ก็จะใช้วัสดุขอจริงโดยครูภูมิปัญญาบางท่านเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้แต่บางท่านขอให้ผู้ศึกษานำวัสดุ อุปกรณ์มาเองบางอย่าง นอกจากนั้นก็ยังมีการศึกษาดูงาน กรณีที่มีการผลิตจำหน่ายจำนวนมากอาจให้มีการศึกษาดูงานจากแหล่งผลิตหรือโรงงานที่ ผลิตจริงเพื่อศึกษาขั้นตอนทั้งหมด การบรรจุหีบห่อ และการส่งขาย หรืออาจนำไปศึกษาดูงานจากแหล่งผลิตอื่น เพื่อให้ผู้ศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์ จากแหล่งผลิตจริง จะได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตลอดจนประกอบอาชีพได้
– การสร้างเครือข่าย จากการวิจัยพบว่าครูภูมิปัญญาแต่ละด้านได้พยายามให้มีการเผยแพร่ และสืบสานความรู้ให้กว้างขวางโดยได้พยายามสร้าง เครือข่ายและติดต่อประสานสัมพันธ์กับหน่วยงาน สถานศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ที่ได้เคยเชิญครูภูมิปัญญาไปเผยแพร่ความรู้ หรือกลุ่มที่มีความสนใจ ในภูมิปัญญาสาขานั้น ๆ เช่น เป็นเครือข่ายกับโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานที่จัดการศึกษานอกระบบ หน่วยงานต่าง ๆ ศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาในพื้นที่อื่นๆ กลุ่มหรือชมรมต่างๆ เช่น ชมรมแพทย์แผนไทย เครือข่ายเหล่านี้มีกิจกรรมร่วมกันในหลายลักษณะ เช่น ประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน การเผยแพร่ข่าวสารในรูปแบบต่างๆ เช่น รายการวิทยุ รายการ โทรทัศน์ การบรรยายให้ความรู้ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การศึกษาดูงานจากกลุ่มต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ของภูมิปัญญาแต่ละด้านให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้นนอกจากนั้นยังเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมซึ่งกันและกันให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องและพัฒนายิ่งขึ้น
(4) แนวทางส่งเสริมให้ครูภูมิปัญญาไทยได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน (นำผลจากการสัมมนาผู้ทรงคุณวุฒิมาปรับแนวทางที่ได้จากการวิจัยให้สมบูรณ์ขึ้น) คณะผู้วิจัยได้นำสรุปแนวทาง ส่งเสริมให้ครูภูมิปัญญาไทยได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้และประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน ซึ่งได้จากการสังเคราะห์ผลการวิจัย จากความคิดเห็นของครูภูมิปัญญาไทย บุคลากรในระบบโรงเรียน บุคลากรของการศึกษานอกระบบและประชาชน มานำเสนอในการสัมมนาผู้ทรง คุณวุฒิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูภูมิปัญญาไทย ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อแนวทางฯ ที่นำเสนอ คณะผู้วิจัยได้นำข้อเสนอแนะของ ผู้ทรงคุณวุฒิมาเพิ่มเติมแนวทางที่ได้จากการวิจัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังมีรายละเอียด ดังนี้
(4.1) ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้โดยทั่ว ๆ ไป สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำภูมิปัญญาไทยมาส่งเสริมการเรียนรู้ ดังนี้
– สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ควรตระหนักในความสำคัญของภูมิปัญญาไทยที่ควรจะอนุรักษ์และสืบสานต่อไปยังรุ่นลูกหลาน ในฐานะที่เป็น สมบัติอันมีค่าของประเทศชาติ
– สถาบันการศึกษาสามารถนำความรู้ของภูมิปัญญาไทยไปใช้สำหรับการเรียนการสอนในหลายลักษณะ เช่น การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น การเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมวิชาต่าง ๆ การเป็นแหล่งศึกษาดูงาน การเป็นแหล่งฝึกงาน การเชิญภูมิปัญญาเป็นวิทยากรในการเรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับ ภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ
– สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การส่งเสริมสนับสนุนให้ภูมิปัญญาได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ในลักษณะการเป็น แหล่งเรียนรู้โดยอาจสนับสนุนในด้านการผลิตสื่อ การเผยแพร่ การจัดสถานที่เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ตามอัธยาศัยแก่ประชาชนทุกคนในชุมชน
– ควรมีการประชาสัมพันธ์จูงใจให้ประชาชนได้ทราบรายละเอียดรู้งานและได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญา ภูมิปัญญาเองจะไม่สามารถประชาสัมพันธ์ได้กว้างขวางเพียงพอ
– กระทรวง ทบวง กรมที่เป็นต้นสังกัดของสถาบันการศึกษาควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนให้สถาบันการศึกษาจัดให้มีการศึกษาหาความรู้ จากภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ
(4.2) ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ในแต่ละด้าน
(4.2.1) ครูภูมิปัญญาไทยกับการส่งเสริมการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน สรุปแนวทางได้ ดังนี้
– กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดให้มีหลักสูตรและการเรียนการสอนเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย
– กระทรวงศึกษาธิการควรจัดให้มีการจัดทำตำราและหนังสืออ่านประกอบ เกี่ยวกับเรื่องภูมิปัญญาไทย
– โรงเรียนควรจัดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องภูมิปัญญาไทย
– โรงเรียนควรปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียนเห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทย
– โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนได้รู้รายละเอียดของภูมิปัญญาไทยด้านต่าง ๆ
– โรงเรียนควรเชิญครูภูมิปัญญาไทยมาช่วยทำหลักสูตรท้องถิ่น
– โรงเรียนควรจัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับ ภูมิปัญญาไทย
– โรงเรียนควรเชิญครูภูมิปัญญาไทยไปเป็นวิทยากร
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการให้คำแนะนำแก่ครูภูมิปัญญาไทยถึงวิธีการ ถ่ายทอดความรู้
– ครูภูมิปัญญาไทยควรทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้ให้แก่นักเรียน
– ครูภูมิปัญญาไทยที่มีศูนย์การเรียนรู้ควรจัดศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานและแหล่งฝึกงานสำหรับนักเรียน
(4.2.2) ครูภูมิปัญญาไทยกับการส่งเสริมการเรียนรู้นอกระบบ สรุปแนวทางได้ ดังนี้
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องภูมิปัญญาไทยแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรจัดให้มีหลักสูตรเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยโดยเชิญครูภูมิปัญญาไทยร่วมจัดทำหลักสูตร
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเกี่ยวกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
– ครูผู้สอนหรือวิทยากรควรจัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังเจตคติที่ดีและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาแก่ผู้เรียนและแก่ประชาชนทั่วไป
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรจัดกิจกรรมกลุ่มสนใจเกี่ยวกับเรื่อง ภูมิปัญญาไทยและเชิญครูภูมิปัญญาไทยเป็นวิทยากร
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรจัดกิจกรรมฝึกอาชีพระยะสั้นโดยเชิญ ครูภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นเป็นวิทยากร
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นและเชิญครูภูมิปัญญาไทยมาแสดงผลงาน
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ครูภูมิปัญญาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ให้ ข้อมูลหรือเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจทั่วไป
– ครูภูมิปัญญาไทยที่จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้จัดศูนย์การเรียนรู้เป็นแหล่งความรู้ แหล่งศึกษาดูงาน และแหล่งฝึกงานสำหรับนักศึกษา
– หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนควรมีการรวบรวมข้อมูลจากภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นมาจัดทำเป็นหนังสือหรือเอกสารประกอบการเรียน การสอนหรือเอกสารเผยแพร่
(4.2.3) ครูภูมิปัญญาไทยกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำการสำรวจภูมิปัญญาไทยในแต่ละท้องถิ่น ว่าแต่ละ ท้องถิ่นมีภูมิปัญญาไทยประเภทใดบ้างและจัดทำทำเนียบ หรือบัญชีภูมิปัญญาไทยได้
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรท้องถิ่นควรให้การสนับสนุนในการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้หรือศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่น
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรท้องถิ่นควรทำการประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนในท้องถิ่นได้รับรู้ถึงภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่นของงานว่ามีภูมิปัญญาประเภทใดบ้าง ประชาชนที่สนใจจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากภูมิปัญญาไทย
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรท้องถิ่นช่วยรวบรวมองค์ความรู้จากภูมิปัญญาแต่ละท่านแล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือหรือเอกสารเพื่อให้ องค์ความรู้นั้น ๆ ยังคงอยู่ต่อไป
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรท้องถิ่นควรสนับสนุนให้มีการนำความรู้ และประสบการณ์ของภูมิปัญญาไทยแต่ละท่าน เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรท้องถิ่นควรให้การสนับสนุนในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ แก่ภูมิปัญญาเพื่อที่ท่าน จะได้นำมาในการประกอบกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ ต่อไป
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรท้องถิ่นควรให้การสนับสนุนภูมิปัญญา ท้องถิ่น เพื่อให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และให้เป็นแหล่งศึกษาดูงาน หรือแหล่งฝึกงานสำหรับผู้สนใจ
(4.3) ด้านการส่งเสริมอาชีพ
– ควรมีการให้ข้อมูลข่าวสารและสร้างความเข้าใจในกลุ่มประชาชนว่าการเรียนรู้หรือการศึกษาวิชาชีพกับภูมิปัญญาสามารถนำความรู้ และทักษะไปประกอบอาชีพได้ ทั้งเป็น อาชีพหลักหรืออาชีพเสริม
– ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของครูภูมิปัญญาแต่ละประเภทเพื่อให้ประชาชนรู้และเข้าใจ และรู้วิธีที่จะติดต่อกับภูมิปัญญา
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน เช่น เงินทุนในระยะเริ่มแรก การหางานทำ และการหาตลาดจำหน่ายผลผลิต
– ควรมีการรวบรวมรายชื่อของครูภูมิปัญญาไทยในสาขาอาชีพต่าง ๆ และจัดทำเป็นทำเนียบครูภูมิปัญญาไทย
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประชาสัมพันธ์รายละเอียดเกี่ยวกับครูภูมิปัญญาแต่ละท่านให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ทราบ และควรเชิญชวนให้ ประชาชนมาศึกษาหาความรู้ทาง ด้านวิชาชีพจากครูภูมิปัญญา
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้ครูภูมิปัญญารับเชิญเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมอาชีพ ในการฝึกอบรมที่จัดขึ้นโดยองค์กรท้องถิ่น และโดยหน่วยงานต่าง ๆ
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้ครูภูมิปัญญาทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจฝึกอาชีพ และผู้ที่ต้องการจะเริ่ม ประกอบอาชีพใหม่
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์ในการจัดให้สถานที่ของครูภูมิปัญญาเป็นแหล่งการเรียนรู้ทาง ด้านอาชีพ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน และแหล่งฝึกปฏิบัติงานเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพ
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนอย่างต่อเนื่องเช่นให้เป็นเงินเดือนเพื่อให้แหล่งการเรียนรู้ทางด้านอาชีพ จัดบริการฝึกอบรมเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นแหล่ง ฝึกงานให้แก่ประชาชนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านอาชีพต่าง ๆ ของครูภูมิปัญญาแล้วจัดเผยแพร่โดยสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ เทปเสียง วีดิทัศน์ และ VCD เป็นต้น
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้และผลงานของ ภูมิปัญญาเป็นครั้งคราว เช่น การจัดนิทรรศการ จัดงาน วันอาชีพ จัดงานออกร้านผลิตภัณฑ์จากอาชีพ เป็นต้น